ร่าง พรบ.ชาติพันธุ์ วาระแรกผ่านฉลุย “ก้าวไกล” หนุนเต็มเหนี่ยว

603

“ก้าวไกล” หนุนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทุกฉบับ ชี้แม้ รธน.จะรับรองความเท่าเทียม แต่ในทางปฏิบัติยังถูกมองเป็นพลเมืองชั้นสอง-เลือกปฏิบัติ-เข้าไม่ถึงสิทธิต่าง ๆ ด้าน “พิธา” ชู 4 เสาที่รัฐควรพัฒนาให้พี่น้องชาติพันธุ์ ที่ดินทำกิน-วัฒนธรรม-การศึกษา-สัญชาติ

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งเสนอโดยพรรคก้าวไกล ภาคประชาชน พรรคการเมือง และคณะรัฐมนตรี รวม 5 ฉบับ โดยในส่วนของพรรคก้าวไกล นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เป็นผู้อภิปรายหลักการและเหตุผลของร่างฯ

เลาฟั้งระบุว่า แม้รัฐธรรมนูญจะรับรองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองไว้อย่างครอบคลุม แต่กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยก็ยังคงมีสถานะเป็นพลเมืองชั้นสอง ไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิ อีกทั้งยังมีกฎหมายและนโยบายที่จำกัดสิทธิในที่ดินและทรัพยากร โดยเฉพาะกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับป่าไม้ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ และไม่มีโอกาสในการพัฒนาพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง

มีกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากที่ตกอยู่ในสถานะเดียวกัน ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงใน 20 จังหวัดภาคเหนือกว่า 3,458 หมู่บ้าน ประชากร 1.12 ล้านคน กลุ่มชาวเล 46 ชุมชน 14,000 คน และกลุ่มมานิซึ่งแตกออกเป็น 15 กลุ่มครอบครัว นี่คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายของรัฐโดยตรง รวมทั้งกลุ่มที่กลมกลืนกับสังคมไทยไปแล้วประมาณ 4-5 ล้านคน ที่แม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายโดยตรง แต่วิถีชีวิต วัฒนธรรม และคุณค่าบางอย่างของกลุ่มชาติพันธุ์เลือนหายไปแล้ว

เลาฟั้งกล่าวต่อไปว่า การที่กลุ่มชาติพันธุ์ยังมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำ และด้อยพัฒนาเกิดจากกฎหมายและนโยบายของรัฐที่ไม่เป็นธรรม และการสร้างอัตลักษณ์ด้านลบ ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาว่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็นผู้อพยพเข้ามาใหม่ เป็นภัยต่อความมั่นคง เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และเป็นผู้ทำลายป่า ทำให้คนมีทัศนคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในทางลบ

การแก้ไขมีแนวทาง 2 ประการ คือ การมีกฎหมายรองรับ และ การทำให้คนในสังคมไทยตระหนักว่า สิ่งที่สังคมรับรู้เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในด้านลบถูกสร้างขึ้น ไม่ได้เป็นความจริงอย่างนั้นเสียทั้งหมด

ทั้งนี้ เล่าฟั้งระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองของพรรคก้าวไกล มีสาระสำคัญในภาพกว้าง 3 ประการ ประกอบด้วย การกำหนดให้มีการคุ้มครองสิทธิเป็นการเฉพาะ ประกอบด้วยสิทธิในทางวัฒนธรรม ซึ่งรวมถึงวิถีชีวิต อาชีพ และที่ดิน โดยเฉพาะการใช้ที่ดินและทรัพยากรจากป่า รวมถึงสิทธิในการกำหนดตนเอง

การสร้างกลไกซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทน เพราะถึงแม้กฎหมายจะรับรองสิทธิอย่างเสมอภาคเท่าเทียม แต่กลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากก็ไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้ ถูกเลือกปฏิบัติ หรือไม่สามารถที่จะต่อสู้เรียกร้องสิทธิได้ด้วยตัวเอง

การกำหนดให้มีการประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อเป็นระเบียบในการคุ้มครองวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ในพื้นที่ที่ทับซ้อนกับเขตป่า โดยให้สิทธิ 2 ประการ คือ การอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่ทำลายทรัพยากร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาอาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โดย ไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิในที่ดินให้แก่บุคคลใด ๆ เว้นแต่เป็นการสืบทอดทางมรดก หรือเป็นการดำเนินวิถีชีวิตตามปกติของชุมชน

ขณะที่ มานพ คีรีภูวดล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมอภิปรายสนับสนุนร่างฯ ทุกฉบับ โดยระบุว่า วันนี้เป็นนิมิตหมายครั้งประวัติศาสตร์ที่มีการเสนอร่างกฎหมายจากทุกฝ่าย และเห็นร่วมกันว่าจำเป็นจะต้องมีกฎหมายฉบับนี้ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม เราคือเผ่าพันธุ์และผู้คนที่มาอยู่รวมกันเรียกว่าคนไทย ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง โดยในทางวิชาการยืนยันแล้วว่าประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ต่ำกว่า 60 ชาติพันธุ์อาศัยอยู่ คิดเป็นประมาณ 6 ล้านคนหรือร้อยละ 10 ของคนทั้งประเทศ

ตนขอยืนยันข้อเท็จจริงว่าชนเผ่าพื้นเมืองมีอยู่ในประเทศไทยจริง แม้ในทางปฏิบัติวันนี้ชนเผ่าพื้นเมืองอาจจะไม่ได้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ แต่วันนี้สภาฯ กำลังจะทำให้ชนเผ่าพื้นเมืองมีตัวตนในทางกฎหมาย เพื่อให้เป็นไปตามปฏิญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งประเทศไทยลงนามไว้กับนานาอารยประเทศ

“ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในสังคมไทยคือความจริงที่มีอยู่ หน้าที่ของเราก็คือการทำความจริงให้ปรากฏ รับรองความเป็นตัวตนและความเท่าเทียมกันของคนในสังคมผ่านกฎหมายฉบับนี้” มานพกล่าว

ด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นผู้อภิปรายปิดคนสุดท้าย โดยระบุว่า สิ่งที่รัฐบาลทั่วโลกพยายามทำเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง มีอยู่ 4 เสาเป้าหมาย คือ การมีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย รวมทั้งการเข้าถึงไฟฟ้า น้ำประปา และสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่น ๆ การรักษาไว้ซึ่งการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีและภาษาประจำเผ่า การพัฒนาระบบการศึกษาและสาธารณสุข และ การพิสูจน์สัญชาติ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันถ้านำ 4 เสาเป้าหมายนี้มาตั้ง เราจะเห็นว่ากลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยยังคงมีปัญหาอยู่ ทั้งเรื่องของการเข้าถึงที่ดินทำกิน เรื่องภาษาของหลายชนเผ่าพื้นเมืองที่สูญหายไปแล้วอย่างถาวร และยังมีอีก 25 ภาษาที่เสี่ยงจะสูญหายในช่วงชีวิตของเรา เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่เห็นได้ชัดว่าอัตราการสำเร็จการศึกษาชั้น ม.6 ระหว่างคนที่ใช้ภาษาไทยกับคนที่ใช้ภาษามากกว่าภาษาไทยต่างกันถึง 2.5 เท่า รวมถึงเรื่องการพิสูจน์สัญชาติที่ยังล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพ

พิธากล่าวต่อไปว่า จากปัญหาข้างต้น อุปสรรคสำคัญที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ คือกฎหมาย งบประมาณ และการบริหารงาน โดยในด้านกฎหมาย กลุ่มชาติพันธุ์มีปัญหากับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับที่ดินซึ่งทับซ้อนกันอยู่ 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ร.บ.ป่าสงวน และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ รวมถึงยังมีมติ ครม.ปี 2553 ที่กำหนดเขตวัฒนธรรมพิเศษที่ไม่สามารถนำมาปรับใช้ได้จริง

ส่วนด้านงบประมาณ หากสำรวจในร่างงบประมาณปี 2567 จะพบว่ามีงบประมาณสำหรับการพิสูจน์สัญชาติ 35 ล้านบาท แต่คนไร้สัญชาติในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 5-8 แสนคน เมื่อปีที่แล้วรัฐไทยสามารถพิสูจน์สัญชาติได้ 10,000 คน หากยังคงอัตราเท่านี้ เท่ากับว่าจะต้องใช้เวลาอีก 80 ปีกว่าเราจะแก้ปัญหาเกี่ยวกับคนไร้สัญชาติในประเทศไทยได้ นอกจากนี้ หากนำคำว่า “ชาติพันธุ์” ไปค้นหาในระบบงบประมาณ จะพบว่ามีอยู่ 3 โครงการ รวมกันแค่ 25 ล้านบาทเท่านั้น เมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ 7 ล้านคนทั่วประเทศไทยถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก

พิธาย้ำว่า ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองฉบับนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้กับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ได้ จึงขอวิงวอนให้เพื่อนสมาชิก สส.ร่วมกันรับหลักการร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับ เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาวิธีการสำคัญในการยกระดับชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ให้ตรงตามเป้าหมายทั้ง 4 เสา

ท้ายที่สุด ที่ประชุมสภาฯ มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทั้ง 5 ฉบับ และให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาจำนวน 42 คน โดยกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคก้าวไกลมี 6 คน ได้แก่ 1) มานพ คีรีภูวดล 2) เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล 3) ณัฐวุฒิ บัวประทุม 4) ภัสริน รามวงศ์ 5) ชิตวัน ชินอนุวัฒน์ และ 6) สุนี ไชยรส

ไทยแทบลอยด์ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล เลาฟั้งบัณฑิตเทอดสกุล พิธาลิ้มเจริญรัตน์