กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 35.70-36.20 ลุ้นเงินเฟ้อสหรัฐฯ

91

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประเมินเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.70-36.20 บาท/ดอลลาร์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 35.88 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 35.45-35.98 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดรอบเกือบ 3 เดือน ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติด้วยเสียง 5 ต่อ 2 ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนีดอลลาร์ปิดในแดนบวกได้เป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงบ่งชี้ความแข็งแกร่งและตอกย้ำท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ที่ว่าไม่จำเป็นต้องรีบปรับลดดอกเบี้ย ขณะที่เงินเยนร่วงลงแตะจุดต่ำสุดในรอบ 2 เดือน ท่ามกลางการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และสัญญาณจากธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)ที่ไม่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว เมื่อมีการยกเลิกนโยบายดอกเบี้ยติดลบในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 1,028 ล้านบาท และ 11,828 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะติดตามการเปิดเผย ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคและยอดค้าปลีกเดือนมกราคมของสหรัฐฯ ขณะที่ตลาดทบทวนคาดการณ์จังหวะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดออกไปเป็นราวเดือนพฤษภาคมในภาพรวมเราคาดว่าเงินดอลลาร์จะยังคงได้แรงหนุนต่อไปในระยะนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับสกุลเงินที่มีอัตราผลตอบแทนต่ำเช่น เงินเยน

ปัจจัยในประเทศ กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ คาดว่า กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจปลายปี 66 ชะลอลงมากกว่าคาดเนื่องจากการส่งออกและการผลิตฟื้นตัวช้า สินค้าคงคลังอยู่ในระดับสูง และการเปลี่ยนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่ลดลง โดยคาดว่าจีดีพีปี 67 จะเติบโต 2.5-3.0% อนึ่ง กนง.เห็นว่ามีความไม่แน่นอนสูงทั้งจากปัจจัยวัฏจักรและปัจจัยเชิงโครงสร้าง ขณะที่การตัดสินใจด้านนโยบายจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ล่าสุดกนง.ยืนยันว่าอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำไม่ได้สะท้อนอุปสงค์อ่อนแอ แม้จะคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้อาจทรงตัวใกล้ 1% ก่อนจะทยอยเพิ่มขึ้นในปี 68 ทั้งนี้ เราเคยประเมินว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะถูกตรึงไว้ตลอดปีนี้ แต่ยอมรับว่ามติที่ไม่เป็นเอกฉันท์และการระบุถึงความไม่แน่นอนต่างๆ เพิ่มโอกาสการลดดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดหากบริบททางเศรษฐกิจเปลี่ยนไป