นักเรียนไทยติด‘บุหรี่ไฟฟ้า’ งอมแงม คนสูบ 2 ปี เพิ่มขึ้น 10 เท่า

270

สช. ระดมภาคีหน่วยงานร่วมหารือมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ย้ำความสำคัญของการสื่อสาร-สร้างการรับรู้ที่ถูกต้อง หลังพบเด็ก-เยาวชน-คนจำนวนมากยังขาดความเข้าใจถึงโทษภัย ชี้ไม่มีความปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน พร้อมเปิดข้อกฎหมายบุหรี่ไฟฟ้ามีความรุนแรงเทียบยาเสพติด ร่วมวาง 8 ข้อเสนอเชิงนโยบาย หวังหยุดยั้งสถานการณ์ระบาดรุนแรง

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เรื่อง การสร้างการรับรู้/การสื่อสารและการบังคับใช้กฎหมาย โดยมี ศ.เกียรติคุณ พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยผู้แทนภาคีเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

ศ.พญ.สุวรรณา เปิดเผยว่า สิ่งที่จะต้องเร่งหาแนวทางร่วมกันในขณะนี้ คือการสร้างการรับรู้โทษจากภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่เด็ก เยาวชน รวมถึงสาธารณชน ซึ่งพบว่าผู้คนในสังคมยังมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 ปีหลังมานี้ ที่การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นจำนวนการสูบในกลุ่มคนทั่วไป (อายุ 15 ปีขึ้นไป) เพิ่มขึ้นจาก 7.8 หมื่นคนในปี 2564 กลายเป็น 7 แสนคนในปี 2565 หรือเพิ่มถึงสิบเท่า และที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคืออัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กนักเรียนไทย (อายุ 13-15 ปี) ได้เพิ่มขึ้นจาก 8.1% ในปี 2564 เป็น 17.6% ในปี 2565
ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวว่า ที่ผ่านมายอดขายของบุหรี่มวนแบบดั้งเดิมนั้นมีอัตราต่ำลงทั่วโลก อันเป็นผลจากการร่วมกันรณรงค์ถึงโทษและพิษภัยที่มีมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตามเมื่อบริษัทบุหรี่เริ่มอยู่ไม่ได้ เราจึงได้พบกับบุหรี่ไฟฟ้าที่เข้ามาเป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการ ด้วยการสร้างมายาคติว่ามีความปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน แต่ปัจจุบันข้อมูลทางวิชาการล้วนยืนยันแล้วว่าบุหรี่ไฟฟ้านั้นไม่ได้มีความปลอดภัยแต่อย่างใด โดยเราจะเห็นได้ว่าบุหรี่มวนนั้นใช้เวลาราว 30-50 ปี จึงเริ่มมีรายงานการก่อโรคมะเร็งในส่วนต่างๆ ของร่างกาย แต่กับบุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่งเกิดขึ้นมาเพียงไม่เกิน 15 ปี ขณะนี้มีรายงานที่พบแล้วว่าเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าคนที่ไม่สูบถึง 2.2 เท่า

“อย่างเดียวที่บุหรี่ไฟฟ้าเคลมแล้วเป็นจริงคือการไม่มีสาร ทาร์ หรือน้ำมันดินที่เกิดจากการเผาไหม้แบบบุหรี่มวน แต่สารเคมีที่เหลืออีกกว่า 7,000 ชนิดมีเท่าเทียมกัน ซ้ำร้ายในบุหรี่ไฟฟ้ากลับมีนิโคตินสังเคราะห์ ที่ทำให้ร่างกายดูดซึมได้เยอะขึ้น เร็วขึ้น และเติมได้ไม่จำกัด ต่างจากบุหรี่มวนที่มีนิโคตินธรรมชาติในปริมาณคงที่มาจากโรงงาน และสิ่งสำคัญคือการปรุงแต่งน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าจนมีความหอม หวาน มีรสชาติมากกว่า 16,000 ชนิด ซึ่งกลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กและเยาวชนทั่วโลกเลือกสูบ และยังสามารถทำให้เสพติด โดยไม่พบว่าช่วยในการเลิกบุหรี่มวนได้แต่อย่างใด” ศ.พญ.สุวรรณา ระบุ

ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร เลขานุการคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ กล่าวว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยมี 4 ฉบับ ได้แก่ 1. ประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2557 ที่กำหนดในเรื่องของการห้ามนำเข้า 2. คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 กำหนดห้ามขาย และห้ามให้บริการ 3. พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ห้ามนำเข้า และห้ามครอบครอง 4. พ.ร.บ.ควบคุม ผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ห้ามสูบในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งทั้งหมดนี้มีทั้งในส่วนของโทษปรับและโทษจำคุกด้วย

“ถ้าพิจารณาจากสถานะทางกฎหมาย บุหรี่ไฟฟ้าสามารถเทียบเคียงได้กับการเป็นยาเสพติด เพราะมีทั้งการห้ามนำเข้า ห้ามขาย ห้ามให้บริการ รวมถึงห้ามครอบครอง คำถามคือขณะนี้มีถือกันอยู่ในมือของคนทั่วไปได้อย่างไร ดังนั้นจึงเป็นประเด็นที่เราต้องสร้างการรับรู้เรื่องกฎหมาย เพราะยังมีคนที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้กันอีกมาก รวมทั้งต้องมาร่วมกันหาแนวทางในการเฝ้าระวัง บังคับใช้กฎหมาย และยืนยันถึงความจำเป็นของนโยบายและมาตรการในป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า” ดร.วศิน ระบุ

สำหรับร่างข้อเสนอเชิงนโยบายที่ได้ร่วมกันหารือในครั้งนี้ จำนวน 8 ข้อ มีประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ 1. บูรณาการการเรียนการสอนรู้เท่าทันพิษภัยและการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้า ในระบบการศึกษาแต่ละระดับ 2. ร่วมกันเผยแพร่ภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้า และเป็นแบบอย่างของการไม่สูบ 3. เฝ้าระวังเนื้อหาที่เกี่ยวกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าผ่านสื่อต่างๆ 4. ปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ทั้งการขายในสถานที่และในระบบออนไลน์ พร้อมติดตามสืบหาต้นตอของผู้กระทำความผิด 5. เสนอให้รัฐบาลคงไว้ซึ่งนโยบายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า 6. ร่วมกันเฝ้าระวังและเปิดโปงกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ พร้อมป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบผ่านช่องทางต่างๆ 7. ควบคุม ปราบปราม ดำเนินการทางกฎหมายต่อร้านค้าบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งมีแนวทางปฏิบัติให้กับผู้ให้บริการธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจไปรษณีย์และขนส่งเอกชน 8. ร่วมกันสื่อสารให้เครือข่ายในทุกระดับตระหนักถึงความสำคัญและร่วมกันปกป้องเด็กและเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมเฝ้าระวังการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าที่มุ่งเป้าไปยังเด็กและเยาวชนในระดับพื้นที่

ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่เอาบุหรี่มวน แต่กระโจนเข้ามาสู่การใช้บุหรี่ไฟฟ้า เนื่องด้วยความไม่รู้ถึงพิษภัย และด้วยเพราะการตลาด ซึ่งข้อมูลผลสำรวจของเด็กนักเรียนชั้นมัธยมในประเทศไทยพบว่า จำนวน 35% ไม่เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำให้ปอดอักเสบ และ 40% ไม่เชื่อว่าทำให้เกิดหัวใจวาย ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์ทางการแพทย์และมีรายงานออกมาแล้ว เพราะฉะนั้นในการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า สิ่งสำคัญที่จะต้องทำควบคู่ไปด้วยก็คือการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับเด็ก เยาวชน และสังคม

ด้าน นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ทาง สช. มีความยินดีที่เรื่องนี้ได้เกิดการหารือและนำมาสู่การพัฒนานโยบายสาธารณะ ผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ซึ่งเป็นพื้นที่กลางหรือแพลตฟอร์มทางสังคมที่ให้แต่ละภาคส่วนได้นำเอาศักยภาพ องค์ความรู้ รวมถึงทรัพยากรที่ตนเองมีมาเชื่อมต่อกัน เพื่อหนุนเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนในประเด็นนี้ต่อไป แม้เป็นเรื่องที่ยาก แต่เชื่อว่าจะไม่เกินความสามารถของภาคีเครือข่ายทุกส่วนที่จะมาร่วมกันยกระดับประเด็นนี้ไปสู่ความสำเร็จได้ต่อไป

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #บุหรี่ไฟฟ้า