นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค กล่าวถึงแนวคิดสังคมเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน หรือ Sharing Economy แบ่งออกเป็นสองตอน โดยระบุว่า “Sharing Economy(1)
แต่ก่อนแต่ไร เมืองไทยรู้จักคำว่าแชร์ก็จากวงแชร์ที่ตั้งกันขึ้นเพื่อระดมเงินเพื่อเป็นทุนจากหมู่ญาติมิตรเพื่อนฝูง แต่พอถึงยุคไทยแลนด์ 4.0 เราก็ได้รู้จักอีกด้านหนึ่งของการแชร์ในคำว่า Sharing Economy ซึ่งคำนี้ไม่เกี่ยวกับการตั้งวงแชร์เลยสักนิด แต่ทว่ามีดอกผลเป็นเม็ดเงินออกมาเห็นๆ
Sharing Economy คือรูปแบบเศรษฐกิจแบบว่าใครมีอะไรที่เป็นทรัพย์สินก็เอาออกมาแชร์ในรูปการเช่า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินทรัพย์ การเกิดขึ้นของรูปแบบเศรษฐกิจนี้ เป็นผลพวงจากที่เรามีอินเตอร์เน็ตในการเข้าถึงกันได้โดยง่าย โดยมีแพลตฟอร์มหรือพื้นที่อะไรสักอย่างเป็นตัวกลางในการเป็น market share
ถามว่าจะแชร์อะไรได้บ้างในโลกของ Sharing Economy ? การที่ Sharing Economy จะบูมได้ขนาดนี้ ความจริงแล้วมันมีที่มาที่ไป เพราะการทำธุรกิจนี้เป็นการทำผ่านแพลตฟอร์ม ซึ่งง่ายและสะดวกกว่าการทำธุรกิจแบบเมื่อก่อน ซึ่งทำให้ในปี 2008 สหายสามเกลอจึงได้ก่อตั้ง Airbnb ธุรกิจที่สามารถแบ่งปันห้องพักออกให้เช่ามาสร้างเป็นรายได้ ถือว่าเป็นการเปิดตัว Sharing Economy ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของโลกเป็นเจ้าแรก และในปีถัดมา Travis Kalanick ก็เปิดตัวธุรกิจที่คล้ายกัน แต่เปลี่ยนห้องพักมาเป็นรถ ในชื่อ Uber ที่ประสบความสำเร็จตามมา เราจึงได้ยินกันว่า Uber เป็นบริษัทรถแท๊กซี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแต่กลับไม่มีรถของตัวเองสักคัน หรือ Airbnb เป็นบริษัทที่รวมห้องพักมากที่สุดในโลก แต่ไม่มีห้องพักของตัวเองสักกะห้องเช่นกัน แต่บริษัททั้งสองกลับฟันรายได้มหาศาล
ปัจจุบันทั่วโลก Sharing Economy ได้ขยายธุรกิจไปสารพัดมากมายจากการนำทรัพย์สินที่ตนเองมีอยู่ ออกให้เช่า คนมีห้องว่างในบ้านหรือคอนโดก็สามารถนำออกให้เช่าผ่านช่องทางแพลตฟอร์มนี้ มีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเดือน ใครมีรถส่วนตัวแทนที่ตอนเช้าจะขับรถตรงไปทำงาน ก็รับผู้โดยสารจากช่องทาง Uber ได้ตังค์เพิ่มขึ้น เลิกงานแทนที่จะกลับบ้านเสียทันที ก็รับผู้โดยสารสักสองเที่ยว เสาร์อาทิตย์มีเวลาก็มารับผู้โดยสารแทนที่จะจอดรถไว้เฉยๆ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากทรัพย์สินที่เรามี นี่คือที่เกิดขึ้นในโลกยุคนี้ ในต่างประเทศยุโรป อเมริกา จีน ญี่ปุ่น และประเทศส่วนใหญ่ในโลกเค้ากำลังดำเนินชีวิตกันเช่นนี้ เพราะรัฐเค้าให้ความคุ้มครองรองรับ สนับสนุน เป็นการหมุนทันโลก
ซึ่งเรื่องนี้น่าสนใจหากมองย้อนกลับมามองบ้านเรา กลับพบว่าในขณะที่รัฐบาลปลุกเรื่อง ไทยแลนด์ 4.0 ขึ้นมา แต่ทว่ากลับไม่ใส่ใจสิ่งที่ผมเล่ามาเลย เป็นอย่างไรนั้นผมจะขออนุญาตนำเสนอในลำดับถัดไปครับ
Sharing Economy(2)
ที่ผมบอกว่าประเทศไทยสวนทางกับประเทศอื่นๆนั้นคืออะไร ขณะที่ประเทศอื่นเค้าสนับสนุนและเอื้อให้คนของเค้าสามารถทำมาหาเลี้ยงชีพหารายได้เพิ่มขึ้นจากสินทรัพย์ที่มีอยู่ตามแนว Sharing Economy
แต่เมืองไทยที่มีไทยแลนด์ 4.0 กลับหมุนทวนโลก ใครจะขับ Grab หรือ Uber ก็ถูกจับดำเนินคดีอาญา เพราะทำตัวเป็นแท๊กซี่ป้ายดำ ผิด พรบ.ขนส่งฯ มีห้องพักอยู่ในคอนโดว่างอยู่ปล่อยให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเช่าพักรายวันผ่าน Airbnb ถูกจับขึ้นศาลดำเนินคดี โทษทั้งจำคุกและปรับ เพราะเอาห้องให้เช่าแบบนี้ ต้องขออนุญาต ผิดพรบ.โรงแรม
รถก็รถเรา ห้องก็ห้องเรา แต่ต้องถูกดำเนินคดีอาญา ซึ่งเรื่องที่รัฐมีกฎหมายแบบนี้ คนที่เกาะลิบง จังหวัดตรังบ้านผม อยากจะแบ่งห้องให้นักท่องเที่ยวฝรั่งเช่า พนักงานบริษัทที่เมืองเลยจะมาขับ Grab เพื่อหาลำไพ่ ก็จะถูกจับหมด ถามว่าเพราะอะไร ?? คำตอบก็คือเพราะเรามีกฎหมายที่ล้าหลัง ไม่ทันโลก ไม่เอื้ออำนวยให้ประชาชนมีโอกาสได้ทำมาหากินเพิ่มรายได้จากทรัพย์สินของตัวเอง ไงครับ
วันก่อนท่านคงได้อ่านข่าวที่ ท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ บอกว่าบ้านเรากฎหมายมีมากเกินไปฯลฯ ผมก็จะบอกว่าเรามีกฎหมายห่วยๆแบบนี้อีกเยอะแยะมากมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ที่ถึงเวลาต้องปรับปรุงพัฒนา
เพราะกฎหมายคืออำนาจของรัฐ รัฐจะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการบังคับหรือลิดรอนอำนาจของประชาชน จนติดนิสัย ทั้งที่รัฐได้อำนาจนั้นมาจากประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง
เราจึงควรจะต้องปรับปรุงพัฒนากฎหมายให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ อาจกล่าวได้ว่าถึงเวลาเสียทีที่จะต้อง
#ลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน
Sharing Economy(1)แต่ก่อนแต่ไร…
โพสต์โดย ศุภชัย ใจสมุทร พรรคภูมิใจไทย เมื่อ วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม 2018
Sharing Economy(2)ที่ผมบอกว่าประเทศไทยสวนทางกับประเทศอื่นๆนั้นคืออะไร…
โพสต์โดย ศุภชัย ใจสมุทร พรรคภูมิใจไทย เมื่อ วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม 2018