นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยถึงประเด็นความสำคัญของดินต่อการเพาะปลูกพืช ว่า ในโลกของเรามีธาตุอาหารทั้งที่อยู่ในอากาศ ในน้ำ และในดิน อยู่หลากหลายชนิด กว่า 92 ชนิดด้วยกัน โดยมีธาตุอาหารที่พืชต้องการอยู่ถึง 17 ชนิด ซึ่งมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ธาตุอาหารบางชนิด หากใส่ปริมาณมากเกินไปทำให้พืชแสดงอาการขาดจุลธาตุบางชนิดได้ รวมทั้ง หากดินมีค่า pH ต่ำกว่า 5.5 หรือดินกรด อาจทำให้ธาตุอาหารบางชนิดละลายออกมามากเกินไปจนเป็นพิษกับพืชได้ ดังนั้น หากเกษตรกรมีการตรวจวิเคราะห์ดิน ปรับค่า pH ของดินให้เหมาะสม เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน จะทำดินมีโครงสร้างดีขึ้น เกิดสมดุลในดินทั้งด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพ พืชจะสามารถใช้ธาตุอาหารได้อย่างเต็มศักยภาพ นำสู่การลดต้นทุนการผลิต เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลผลิตที่มีคุณภาพ
นายพีรพันธ์ กล่าวว่า ด้วยความสำคัญของดินและปุ๋ย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการทำการเกษตรให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพ สอดคล้องกับการดำเนินงานที่ผ่านมาของกรมส่งเสริมการเกษตรที่ได้จัดตั้งศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ตั้งแต่ปี 57 โดยปัจจุบันมี ศดปช. ครบทุกอำเภอใน 77 จังหวัด รวม 882 ศูนย์ มีสมาชิกมากกว่า 17,640 ราย และมี ศดปช. เครือข่าย เพิ่มขึ้นตามความต้องการของพื้นที่รวม 1,106 ศูนย์ มีสมาชิก ศดปช. เครือข่าย ทั้งสิ้น 33,122 ราย ทำหน้าที่เป็นกลไกในการขยายผลการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องเพื่อลดต้นทุนการผลิตโดยเกษตรกรเพื่อเกษตรกร ซึ่งศดปช. ทุกศูนย์ เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยของชุมชน ให้บริการตรวจวิเคราะห์ดินด้วยชุดตรวจสอบ N P K และ pH ในดินแบบรวดเร็ว (Soil test kit) พร้อมให้คำแนะนำการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยเบื้องต้น รวมทั้งให้บริการผสมปุ๋ย จัดหาปุ๋ยคุณภาพดี ในราคาที่เหมาะสม เพื่อให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องเหมาะสมกับปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในดิน และความต้องการของพืช เป็นวิธีการใช้ปุ๋ยแบบแม่นยำเฉพาะพื้นที่ เกษตรกรจึงสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง โดยมีคณะกรรมการ ศดปช. ซึ่งเป็นเกษตรกร บริหารจัดการกิจกรรมภายในศูนย์ร่วมกัน ในขณะที่เจ้าหน้าที่จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ให้คำปรึกษาแนะนำ
ทั้งนี้ ผลการสนับสนุนความรู้ให้แก่เกษตรกรสมาชิก ศดปช. ในปีที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้ 1) เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักการ 4 ถูก คือ ถูกสูตร/ชนิด ถูกอัตรา ถูกเวลา และถูกวิธี รวมทั้งใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน (ใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ)
2) เกษตรกรนำเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินไปใช้ในพื้นที่ตนเองคิดเป็นร้อยละ 46.7 และได้รับผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 ลดต้นทุนปุ๋ยเคมีได้เฉลี่ยร้อยละ 10.2 โดยอ้อยสามารถลดต้นทุนได้มากที่สุด ถึงร้อยละ 53.2 รองลงมาคือ ข้าว ร้อยละ 36.8
3) เกษตรกรมีการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์ ได้ 4.3 ล้านตัน ได้แก่ ปุ๋ยคอก 839,809 ตัน ปุ๋ยหมัก 331,162 ตัน ปุ๋ยพืชสด 386,367 ตัน ไถกลบตอซังข้าว 2,738,386 ตัน คิดเป็นธาตุอาหาร N 48,615 ตัน ธาตุอาหาร P 41,616 ตัน และ ธาตุอาหาร K 56,593 ตัน
หากเกษตรกรท่านใดสนใจเรียนรู้ด้านการจัดการดินและการใช้ปุ๋ย หรืออยากใช้บริการของ ศดปช. สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดหรือสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน และกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร หมายเลขโทรศัพท์ 0 2955 1515