นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ปัจจุบันปุ๋ยเคมีมีแนวโน้มราคาเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตทางการค้า ประกอบกับการใช้ปุ๋ยเคมีที่ขาดความถูกต้องตามหลักวิชาการ ทั้งการเลือกชนิดของปุ๋ย ปริมาณ วิธีการใช้ และเวลาในการใส่ ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถเพิ่มผลผลิตได้ดีเท่าที่ควร และสิ้นเปลืองค่าปุ๋ยโดยไม่จำเป็น จึงต้องมีการบริหารจัดการภาคการเกษตรที่ครบถ้วนทุกด้าน ตั้งแต่ดิน น้ำ กลไกราคา และแหล่งเงินทุน ส่งเสริมให้นำ“เกษตรแม่นยำ”มาใช้ โดยเฉพาะการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยได้อย่างเหมาะสมและลดรายจ่ายในการจัดซื้อปุ๋ยเคมีสามารถเพิ่มผลผลิต และยกระดับผลผลิตให้มีคุณภาพ
“กรมพัฒนาที่ดิน ให้ความสำคัญกับการดำเนินงาน เพื่อให้เกษตรกรใช้ที่ดินของตนเองได้อย่างเหมาะสมตรงตามศักยภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯนอกจากจะช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรแล้ว ยังสร้างรายได้ในภาคการเกษตรทั้งประเทศเพิ่มขึ้น ดังนั้น การส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับองค์ความรู้ด้านการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การใช้ปุ๋ยเท่าที่จำเป็น(พอดี) ตามความต้องการของพืช โดยการเก็บตัวอย่างดิน นำไปตรวจวิเคราะห์ก่อนการปลูก เพื่อทราบปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในดิน ให้สามารถเลือกสูตร/อัตราการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง โครงการขับเคลื่อนการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เป็นโครงการที่สนับสนุนให้เกษตรกรรู้ปริมาณธาตุอาหารในดิน สามารถจัดการที่ดินของตนเองได้ และใส่ปุ๋ยตามศักยภาพดินของตนเอง โดยการตรวจวิเคราะห์ดินก่อนปลูกพืชตามแนวทางการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยกรมพัฒนาที่ดินมุ่งเน้นการให้บริการวิเคราะห์ดินแก่เกษตรกรในรูปแบบต่างๆ ที่เข้าถึงได้ง่าย รวดเร็ว และครอบคลุมพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการขอรับบริการหลายช่องทาง ได้แก่ บริการด้วยชุดตรวจสอบดินอย่างง่าย (LDD Test Kit) โดย 1. หมอดินอาสาของกรมพัฒนาที่ดิน เป็นผู้ให้บริการพร้อมกับให้คำแนะนำจากโปรแกรมหมอดินตรวจดิน และ 2. สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1-12 สถานีพัฒนาที่ดิน 77 จังหวัดทั่วประเทศ และศูนย์ศึกษาฯ ต่างๆ เป็นผู้ให้บริการพร้อมให้คำแนะนำจากโปรแกรมคำนวณปริมาณปุ๋ยที่ใช้
https://osd101.ldd.go.th/osdlab/search_fertilizer.php
สำหรับการวิเคราะห์ดินแบบละเอียดสำหรับดินที่ต้องการแก้ปัญหาอย่างตรงจุดและแม่นยำ สามารถส่งห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ดิน 13 แห่งทั่วประเทศ เป็นผู้ให้บริการพร้อมให้คำแนะนำผ่านระบบ e-Service ตรวจสอบดินเพื่อการเกษตร“นายปราโมทย์ ยาใจ กล่าว