วันที่ 26 มกราคม 2567 เวลา 14.00 น. พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นางภาวิณี ณ สายบุรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หัวหน้าส่วนราชการในสังกัด ทส. ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจในการปฏิบัติงานแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยมีนายสมเจตน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี พร้อมด้วยหัวหน้าหน่วยงานภาคสนามและเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ และมีนายพงศธร พร้อมขุนทด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด บรรยายสรุปผลการปฏิบัติงาน รวมไปถึงความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด พร้อมทั้งได้นำ รมว.ทส. และผู้บริหาร ทส. เยี่ยมชมศูนย์ศึกษาธรรมชาติบึงบัว ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบห้าพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands)ในประเทศไทย
อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอสามร้อยยอดและอำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย โดยได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ตามอนุสัญญาแรมซาร์ (แรมซาร์ไซต์) ลำดับที่ 2,238 นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจได้แก่ จุดชมวิวเขาแดง คลองเขาแดง หาดสามพระยา ถ้ำพระยานคร ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์” และ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติบึงบัว นอกจากแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามแล้ว อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดยังมีสัตว์ป่าหายากในพื้นที่ เช่น เลียงผา เสือปลา รวมไปถึงนกหายากหลากหลายสายพันธุ์ และจากการรวบรวมสถิตินักท่องเที่ยวพบว่า อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด มีสถิตินักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวกว่า 120,000 คน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากถึง 55,000 คน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 32 จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในปี 2565
สำหรับการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบเสบียงอาหาร ให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ผู้ปฏิบัติงานดูแลรักษาผืนป่าในพื้นที่ พร้อมทั้งได้มอบนโยบายที่จะได้มุ่งเน้นถึงแนวทางการพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ภายใต้กฎระเบียบและข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้อง มุ่งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ เพื่อที่จะร่วมกันยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวในทุกๆ ด้าน ทั้งในเรื่องของความสะดวก ความปลอดภัย ความเท่าเทียมในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ภายใต้พื้นฐานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย คงความยั่งยืนต่อไป