กรุงไทย” กำไรสุทธิปี 66 จำนวน 36,616 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.7% ยืนหยัดช่วยลูกค้าตามแนวทางแก้หนี้อย่างยั่งยืน

133

ผลประกอบการธนาคารกรุงไทยเติบโตตามยุทธศาสตร์ ปี 2566 กำไรสุทธิจำนวน 36,616 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 8.7% สาเหตุจากรายได้การดำเนินงานเพิ่มขึ้น สินเชื่อขยายอย่างระมัดระวัง รักษาการตั้งสำรองในระดับสูง รองรับความ
ท้าทายทางเศรษฐกิจ ยืนหยัดดูแลช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ลดภาระทางการเงิน และแก้ไขปัญหาหนี้อย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางแก้หนี้ยั่งยืนของธปท.

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังไม่ทั่วถึงในรูปแบบ K-shaped economy โดยภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เริ่มกลับมาเป็นปกติมากขึ้น ส่งผลดีต่อการจ้างงานและการบริโภคภาคครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ภาวะชะลอตัว ส่งผลต่อไปถึงการลงทุนภาคเอกชนให้ขยายตัวต่ำกว่าคาด ขณะที่การลงทุนภาครัฐได้รับผลกระทบจากการเบิกจ่ายที่ต่ำกว่าปกติ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญการเปลี่ยนผ่านเชิงนโยบายสู่ภาวะปกติซึ่งเห็นได้ชัดจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับตัวขึ้น ความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับภาคครัวเรือนยังมีภาระหนี้สูงทั้งในและนอกระบบ ผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงกลุ่มเปราะบางและผู้มีรายได้น้อยยังฟื้นตัวได้ช้า ธนาคารจึงดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง บริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด โดยรักษาระดับของ Coverage Ratio ในระดับสูง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การฟื้นตัวภายใต้ศักยภาพที่ลดลงและการให้ความสำคัญกับการดูแลช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มให้สามารถปรับตัว และแก้ไขปัญหาหนี้ได้อย่างยั่งยืน

ปี 2566 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร 36,616 ล้านบาท ปรับตัวขึ้นร้อยละ 8.7 ผลจากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ ที่มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมทางการเงินมาสร้างมูลค่าให้กับลูกค้าโดยมีรายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัวร้อยละ 19.2 จากการเติบโตของสินเชื่ออย่างระมัดระวังในกลุ่มที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร เพื่อรักษาสมดุลด้านความเสี่ยงและผลตอบแทน โดยสินเชื่อในกลุ่มนี้เติบโตขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 1.5 แม้สินเชื่อรวมปรับตัวลดลงร้อยละ 0.6 จากสินเชื่อภาครัฐ และการขยายตัวของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาด

ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนเกี่ยวกับ IT เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มให้ดียิ่งขึ้น ต่อยอดดิจิทัลแบงกิ้ง เพื่อรับการเติบโตของอุตสาหกรรม และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอนาคต อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 41.6 ลดลงจาก
ร้อยละ 43.7 ในปีที่ผ่านมา โดยตั้งสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาระดับของ Coverage ratio ในระดับสูง ที่ ร้อยละ 181.2 รองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ รวมถึงพิจารณาความเสี่ยงในทุกมิติอย่างรอบคอบ โดยหากรวมสำรองที่ได้ปรับปรุงระหว่างปี (one-time adjustment) ด้วยแล้ว Coverage ratio ของธนาคารอยู่ที่ประมาณร้อยละ 190 เมื่อเทียบกับ ร้อยละ 179.7 ในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ในไตรมาส 4 ธนาคารได้ตั้งสำรองในระดับที่เหมาะสมสำหรับลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันที่มีแนวโน้มของคุณภาพสินเชื่อที่เสื่อมค่าลงพร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป พร้อมบริหารคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวังต่อเนื่อง ทำให้ NPLs Ratio ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 3.08

ณ 31 ธันวาคม 2566 ธนาคาร (งบการเงินเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 17.64 และมีเงินกองทุนทั้งสิ้นร้อยละ 20.85 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของ ธปท.รวมถึงมีสภาพคล่องในระดับที่เพียงพอโดยรักษาระดับของ Liquidity Coverage ratio (LCR) อย่างต่อเนื่อง สูงกว่าเกณฑ์ที่ธปท.กำหนด

ผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2566 เทียบกับไตรมาส 4 ปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 6,111 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 24.6 ธนาคารมุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืนและการให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ในสภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ธนาคารจึงตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 181.2 ตามหลักความระมัดระวัง รวมถึงการตั้งสำรองในระดับที่เหมาะสมสำหรับลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน รายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัว ร้อยละ 14.3 ทั้งจากการเติบโตของสินเชื่ออย่างระมัดระวังในกลุ่มที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร เพื่อรักษาสมดุลด้านความเสี่ยงและผลตอบแทน ทั้งนี้ การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 44.8 ลดลง ร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3/2566 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเท่ากับ 6,111 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 40.6 โดยมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นตามหลักความระมัดระวัง อีกทั้ง ยังคง Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 181.2 เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ รายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัว ร้อยละ 1.8 พร้อมทั้งมีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ44.8 สูงขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาเล็กน้อย

ในปี 2566 ธนาคารมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในทุกมิติ โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) นำกรอบเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ มาปรับใช้ในกระบวนการดำเนินงาน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้องค์กร ก้าวสู่ธนาคารเพื่อความยั่งยืน ทำให้ธนาคารได้รับการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2566 ในระดับ “AAA” ซึ่งเป็นระดับสูงสุดจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ธนาคารร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำอย่างต่อเนื่อง เพิ่มเติมจากความร่วมมือระหว่าง Infinitas by Krungthai กับ Accenture จัดตั้งบริษัท Arise by Infinitas เพื่อพัฒนา Digital Talents ขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคต ธนาคารได้ร่วมกับ IBM ตั้งบริษัทร่วมทุน IBM Digital Talent for Business (IBMDT) พัฒนาศักยภาพบุคลากร ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีให้สามารถรองรับธุรกรรมใหม่ๆ ในอนาคต จากการพัฒนาบริการทางการเงินที่ทันสมัย บนช่องทางดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงและครอบคลุม ทั้งในมิติของพื้นที่และระดับขั้นรายได้ ทำให้แพลตฟอร์มของธนาคารมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยแอปพลิเคชันเป๋าตัง มีผู้ใช้งาน 40 ล้านราย Krungthai NEXT 17.8 ล้านราย และ แอปฯ ถุงเงิน 2 ล้านราย

สำหรับ ปี 2567 ธนาคารกรุงไทยมุ่งขับเคลื่อนองค์กรภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมสร้างคุณค่า ตอบโจทย์ลูกค้า สู่ความยั่งยืน” เช่น การใช้ AI มาประกอบการทำงาน เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันของธนาคารและโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต รวมถึงให้ความสำคัญการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศ ให้ความช่วยเหลือลูกค้าแก้ไขปัญหาหนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการทั่วไป และมาตรการเฉพาะจุด โดยเฉพาะดูแลช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ให้สามารถประคองตัว และรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ พร้อมให้ความสำคัญการให้สินเชื่อย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ส่งเสริมการเข้าถึงการเงินในระบบ และไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินตัว ตามแนวทางการแก้หนี้ยั่งยืน หรือ Responsible Lending ของธนาคารแห่งประเทศไทย ครอบคลุมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การช่วยเหลือกลุ่มที่เป็นหนี้เรื้อรังและเปราะบางให้สามารถปิดจบหนี้ได้โดยเร็ว รวมถึงการให้ความรู้ส่งเสริมวินัยทางการเงิน ทั้งการออม การลงทุน และการป้องกันภัยทางการเงิน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและความมั่นคงทางการเงินอย่างมั่นคงต่อไป