พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมเยี่ยมชมและให้กำลังใจการทำงานของกลุ่มอาสาสมัครที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหาย หลังเหตุอุทกภัยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ปลื้มพลังคนรุ่นใหม่ร่วมบรรเทาวิกฤต แนะถอดบทเรียนบริหารจัดการทั้ง 3 ระยะ ก่อน-ระหว่าง-หลังท่วม
โดยเริ่มต้นตั้งแต่การรับฟังปัญหาที่ รพ.สต.บ้านนาโอน อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม คุรุภัณฑ์อุปกรณ์ทางการแพทย์สำคัญได้รับความเสียหายจนไม่สามารถให้บริการประชาชนได้ตามปกติ ก่อนเดินทางต่อไปยัง อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์ประสานงานอาสาสมัครของมูลนิธิกระจกเงา ร่วมรับฟังกระบวนการทำงานของอาสาสมัคร ก่อนร่วมเยี่ยมชมและให้กำลังใจอาสาสมัครล้างบ้านที่หน้างานใน อ.รามัน จ.ยะลา แล้วจึงเดินทางต่อไปยังวิทยาลัยเทคนิคปัตตานี ร่วมรับฟังกระบวนการออกให้ความช่วยเหลือประชาชนในการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม โดยอาสาสมัครนักเรียนและคณาจารย์วิทยาลัยฯ ก่อนร่วมส่งมอบอุปกรณ์การซ่อมแซมบ้านที่ได้รับบริจาคมาจากบริษัท Pumpkin ให้กับกลุ่มอาสาสมัครดังกล่าว
พิธากล่าวว่าสิ่งที่ตนได้มาพบในวันนี้และรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษ ก็คือการรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่ในทุกพื้นที่ ในการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือชุมชน นี่เป็นพลังของคนรุ่นใหม่ในยามวิกฤติที่น่าชื่นชมอย่างมาก อย่างไรก็ตาม แม้ในเวลานี้น้ำจะลดลงแล้ว แต่ปัญหาของประชาชนไม่ได้ลดลงตามด้วย เรื่องเฉพาะหน้าที่สำคัญที่สุดก็คือการฟื้นฟูเยียวยา ซึ่งในส่วนของพรรคก้าวไกลหลังจากที่ได้มารับฟังปัญหาวันนี้แล้ว มีงานที่ต้องกลับไปทำ ในการนำเรื่องต่างๆ เข้าหารือในกรรมาธิการคณะต่างๆ ที่พรรคก้าวไกลมีสมาชิกอยู่ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเกษตร เพื่อบรรเทาปัญหาทั้งพืชผลและปศุสัตว์ที่สูญเสีย ทั้งเรื่องสาธารณสุข ในกรณีที่มี รพ.สต. ได้รับผลกระทบสิบกว่าแห่ง คุรุภัณฑ์สูญเสียกับน้ำท่วม ทั้งเรื่องเศรษฐกิจที่มีธุรกิจชำระหนี้ไม่ได้ ฯลฯ
พิธายังกล่าวต่อไป ว่าจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ครั้งนี้ หากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล สิ่งที่จะต้องทำหลังจากผ่านกระบวนการฟื้นฟูเยียวยาไปแล้ว ก็คือการถอดบทเรียน ทั้งก่อนท่วม ระหว่างท่วม และหลังท่วม จะต้องบริหารจัดการอย่างไร เพราะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เองก็เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากพื้นที่หนึ่งที่จะต้องมีการศึกษา แบ่งเฟสการรับมือให้มีความชัดเจน จะทำอย่างไรให้การแจ้งเตือนมีความแม่นยำมากขึ้น การอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ไปศูนย์อพยพจะต้องรองรับผู้ป่วยติดเตียง ผู้หญิง และเด็กให้มากขึ้น ระหว่างท่วมจะต้องมีการประเมินที่แม่นยำให้เกิดการระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ และสุดท้านกระบวนการฟื้นฟูเยียวยาให้กลับมาสู่สภาพปกติจะต้องทำให้เร็วที่สุด
.
ส่วนในระยะยาวที่สุด จำเป็นต้องมีการกระจายอำนาจ เพราะปัญหาที่ตนได้มารับฟังวันนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการจัดการแบบรวมศูนย์ เช่น เรื่องของเรือ ที่ต้องอาศัยจากกระทรวงกรมที่แตกต่างกันไป ท้องถิ่นไม่มีทรัพยากรหรืออำนาจที่จะไปดำเนินการเองได้อย่างเต็มที่ การจัดการปัญหาภัยพิบัติในอนาคตจะต้องมึการบริหารที่เน้นจากท้องถิ่นมากขึ้น ให้คนใกล้ปัญหาได้เป็นคนแก้ปัญหา โดยไม่ต้องรอกระทรวงกรมต่างๆ เป็นหลัก
“ในฐานะฝ่ายค้านวันนี้ สิ่งที่พรรคก้าวไกลทำได้คือการทำหน้าที่พูดแทนประชาชนที่เสียงของพวกเขาส่งไปไม่ถึง จากการได้ลงพื้นที่จริง ได้เห็นปัญหาจริง สื่อสารแทนประชาขน ใช้กลไกกรรมาธิการเข้าไปจี้กับผู้มีอำนาจในด้านต่างๆ ให้เห็นภาพความเดือดร้อนของประชาชน พรรคก้าวไกลจะเน้นการทำงานเชิงรุกเช่นนี้ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ก่อนเข้าสู่การบริหารในฐานะรัฐบาลในอนาคตต่อไป” พิธากล่าว