สอนเกษตรกรใช้ดินปุ๋ยอย่างถูกวิธี

598

กรมส่งเสริมการเกษตรพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ดินปุ๋ยทั่วประเทศสู่การเป็นวิศวกรสังคม ขับเคลื่อน ศดปช. เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า การจัดการดินและปุ๋ย ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการผลิตพืชให้ได้ปริมาณและคุณภาพ แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศถึงร้อยละ 98 ประกอบกับปุ๋ยเคมีมีราคาแพง และไม่มีเสถียรภาพ ทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้น จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้ประกาศเป็นนโยบายให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับส่งเสริมให้เกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ 4 ถูก คือ ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา และถูกวิธี รวมถึงใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินหรือปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งเป็นการใช้ตามสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินและความต้องการ ของพืช ซึ่งเป็นการใช้ปุ๋ยที่มีความแม่นยำเฉพาะพื้นที่ รวมทั้ง ส่งเสริมให้ใช้อย่างผสมผสานร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ ตามความจำเป็นและเหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพง ที่เกษตรกรจะต้องเผชิญ เป็นการสร้างความยั่งยืนทางการเกษตร ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG

กรมส่งเสริมการเกษตร โดยกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย จึงได้ใช้กลไกของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) และศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) เพื่อให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดการดินและปุ๋ยที่ถูกต้อง มีการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้สามารถจัดการดินปุ๋ยและอารักขาพืชเพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต โดยใช้กระบวนการโรงเรียนเกษตรกรซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่ได้จำกัดแค่การอารักขาพืช แต่นักส่งเสริมการเกษตรสามารถนำกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวนี้ไปใช้ในการส่งเสริมการผลิตพืชทั้งระบบ ตั้งแต่การปลูกพืชพันธุ์ดี การให้น้ำ ปุ๋ย การอารักขาพืช การจัดการดูแลตั้งแต่ปลูก จนกระทั่งเก็บเกี่ยว ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ใช้หลักการทำน้อยได้มาก ยึดนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ของรัฐบาลควบคู่กับการทำงานร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่



“ปัจจุบันกรมฯมี ศดปช. ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านดินและปุ๋ยของชุมชน เป็น ศดปช. หลัก และเครือข่าย ทั่วประเทศรวมกันประมาณ 2,000 ศูนย์ และพร้อมพัฒนาศักยภาพนักส่งเสริมการเกษตรให้เป็นพี่เลี้ยงขับเคลื่อน ศดปช. ที่จะตั้งขึ้นใหม่ตามความต้องการของเกษตรกร โดยไม่จำกัดขอเพียงเกษตรกรมีความต้องการ และพร้อมที่จะเรียนรู้วิชาการด้านดินและปุ๋ย เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพผลผลิต รายได้ และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”นายรพีทัศน์ กล่าว

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรขอเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ผู้เข้ารับการอบรมเมื่อปลายปีที่ผ่านมานำองค์ความรู้ที่ได้ไปออกแบบกระบวนการทำงาน ด้วยการคิด วางแผน แก้ไขปัญหาของเกษตรกรให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่และตรงตามความต้องการของเกษตรกรเพื่อการยกระดับการผลิต การจัดการทางการเกษตร ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีต้นทุนการผลิตลดลง พัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีเศรษฐกิจที่ดี เกิดความยั่งยืนของอาชีพ กลุ่ม/สังคมมีความเข้มแข็ง สิ่งแวดล้อมดีขึ้นอย่างยั่งยืน และเมื่อนักส่งเสริมการเกษตรมีการปรับกระบวนการทางความคิดให้พร้อมเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอแล้วก็จะสามารถเชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้ดี เพราะนักส่งเสริมการเกษตรเป็นวิศวกรสังคม หรือ Social engineering หรือผู้ที่เอื้อให้เกิดกระบวนการจัดการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรในชุมชน พัฒนาด้วยการใช้ความรู้ นวัตกรรม เพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ให้เปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่านั่นเอง

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #กรมส่งเสริมการประมง