ในปัจจุบันเนื่องด้วยสภาพมลพิษทางอากาศจากการเผาไหม้ การใช้ยานพาหนะหรือสาเหตุอื่น ๆ ทำให้สภาพอากาศในประเทศไทยตรวจพบฝุ่นละอองขนาด ≤ 2.5 Mg/m3 (particulate matter 2.5, PM2.5) ในปริมาณที่เกินมาตรฐาน ซึ่ง PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แยกได้ยากกับกลุ่มหมอกควัน PM 2.5 สามารถล่องลอยอยู่ในอากาศได้เป็นวันหรือสัปดาห์ และกระจายไปได้ไกลถึง 100 ไมล์ และก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพผู้สูงวัยได้
นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าเนื่องด้วยโมเลกุลที่เล็ก PM 2.5 จึงถูกสูดผ่านเข้าไปยังปอดผ่านการหายใจ และแทรกซึมเข้าไปในถุงลมเข้าสู่กระแสเลือด ก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดโรคต่างๆ ได้เมื่อมีการสูดหายใจเอา PM 2.5 เข้าไปในร่างกายเป็นระยะนาน ฝุ่นละออง PM 2.5 นี้เมื่อเข้าสู่ร่างกาย อาจก่อให้เกิดโรคหรืออาการต่าง ๆ ได้ เช่น ตาแห้งระคายเคืองตา ผื่นแพ้ที่ผิวหนัง โรคทางเดินหายใจ มะเร็งปอด หลอดเลือดหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจล้มเหลว หลอดเลือดสมองรวมไปถึงภาวะปริชานบกพร่อง (cognitive impairment)
แพทย์หญิงบุษกร โลหารชุน ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดูแลตนเองในผู้สูงอายุจากมลพิษทางอากาศเหล่านี้เราสามารถทำได้โดย 1.) หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีมลพิษทางอากาศสูง เช่น ถนนที่มีจราจรติดขัด จุดที่มีการเผาสิ่งต่างๆ 2.) หลีกเลี่ยงออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง 3.) สวมใส่หน้ากากที่กรองฝุ่นละอองที่มีอนุภาคขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนได้ เช่น หน้ากาก N95 4.) ทำความสะอาดบ้านบ่อยๆ และปิดบ้านหน้าต่างให้มิดชิดเพื่อลดการสะสมของฝุ่น 5.) ใช้เครื่องกรองอากาศที่ได้มาตรฐาน รวมไปถึงศึกษาการใช้ที่ถูกวิธีก่อนซื้อและใช้งาน เช่น ซื้อขนาดให้เหมาะกับพื้นที่ ไม่ควรนำเครื่องกรองอากาศไว้ใต้แอร์ หรือหน้าห้องน้ำ 6.) ติดตามข้อมูลข่าวสารด้านมลพิษทางอากาศเป็นประจำ เช่น เว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ หรือแอพพลิเคชั่นที่เชื่อถือได้ ในกรณีที่มีอาการผิดปกติ เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ไอเรื้อรัง ระคายเคืองตา แนะนำไปพบแพทย์เพื่อตรวจ รักษา และให้คำแนะนำที่เหมาะสม