SCB WEALTH เดินหน้าขยายการลงทุนเพิ่มด้าน ESG มุ่งสร้างผลตอบแทนเชิงบวกให้ลูกค้า พร้อมนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจทั้งการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ และการให้คำแนะนำการลงทุนกับลูกค้า ยกระดับเรื่อง ESG เข้มข้นขึ้นต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่มาตรฐานระดับสูง ในด้านการระดมเงินลงทุนในกิจการที่คำนึงถึง ESG ด้าน Blackrock คาดการลงทุนในพลังงานสะอาดทั่วโลก มีแนวโน้มเพิ่มเป็น 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2573 ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี การใช้พลังงานสะอาดมีต้นทุนต่ำลง น่าสนใจ ส่วน Amundi เผยผลวิเคราะพบว่า ในปี 2565 มากกว่า 60% ของเงินลงทุนในกองทุนETF จะคำนึงถึงประเด็น ESG ส่วนผลิตภัณฑ์ ETF ใหม่ๆ จะเป็น ETF ด้าน ESG ถึง 77% และ Schroders มองอนาคตรายงานทางการเงิน และ Fund Fact Sheet มีแนวโน้มต้องเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและ ESG เพิ่มขึ้น ส่วนการจัดพอร์ตลงทุน ควรเน้นผสมผสานบริษัทที่ดำเนินการได้ดีด้าน ESG และบริษัทที่กำลังดำเนินการปรับตัวสู่ Net Zero เพื่อสร้างความสมดุลของพอร์ตให้ยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดี
นายศรชัย สุเนต์ตา, CFA SCB Wealth Chief Investment Officer ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย Investment Office and Product Function กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า SCB WEALTH ได้จัดงานสัมมนา SCB Investment Forum For Wealth 2024 โดยได้รับเกียรติจากพันธมิตรทางธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ระดับโลก ได้แก่ Blackrock, Amundi และ Schroders มาร่วมเปิด มุมมองการลงทุน ในหัวข้อ ‘Net Zero 2050 กับธุรกิจ Wealth ในประเทศไทย เพื่อสะท้อนให้เห็นพัฒนาการด้านการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ แผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ( Net Zero) ที่ประเทศไทยประกาศเจตนารมณ์ที่จะบรรลุเป้าหมายภายในปี 2050 ควบคู่กับการให้ความสำคัญ ในเรื่อง สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) โดยมองว่า การลงทุนที่ให้ความสำคัญกับ ESG จะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นอย่างเด่นชัดในทุกๆปี เพราะทั้งผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างตระหนักให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างจริงจังกันมากขึ้น
ทั้งนี้ SCB WEALTH มีการนำเรื่อง ESG มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ทั้งด้านการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ และการให้คำแนะนำการลงทุนกับลูกค้า โดยเรามุ่งมั่นในการยกระดับการใช้ประเด็น ESG เข้มข้นขึ้นต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่มาตรฐานระดับสูง ในด้านการระดมเงินลงทุนในกิจการที่คำนึงถึงเรื่อง ESG เรามีแผนขยายการลงทุนทางด้านนี้เพิ่มขึ้น ผ่านการนำเสนอกองทุนรวมที่มุ่งสร้างผลตอบแทนเชิงบวก สำหรับการลงทุนสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับESG
ล่าสุด เราได้สนับสนุนการจำหน่ายกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด ที่คัดสรรให้นักลงทุนได้เลือก 3 กองทุน ได้แก่ 1) กองทุน SCBTM (Thai ESG) ลงทุนแบบผสมหุ้นไทยและตราสารหนี้ 2) กองทุน SCBTA (Thai ESG) ลงทุนหุ้นไทยแบบ Active และ3) กองทุน SCBTP (Thai ESG) ลงทุนหุ้นไทยแบบ Passive ซึ่งเราเชื่อว่า กองทุน Thai ESG นี้ จะเป็นทางเลือกที่ดีที่ช่วยให้ผู้ลงทุนได้มีส่วนร่วมสร้างผลเชิงบวกต่อโลก ทั้งยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีอย่างยั่งยืนในระยะยาว จากการลดความเสี่ยงจากประเด็นเชิงลบที่เกี่ยวข้องกับ ESG ได้อีกด้วย
นายธณาพล อิทธินิธิภัค Director and Head of Thai Business, Blackrock กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการลงทุนยั่งยืน โดยเรามีระบบช่วยในการวิเคราะห์ด้านความเสี่ยงบริหารพอร์ตการลงทุนและเทรดสินทรัพย์ต่างๆ (Aladdin) ซึ่งสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และติดตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของบริษัทต่างๆ โดยเราพบว่าในระยะข้างหน้า บริษัทที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อยอดขายในระดับสูง จะมีแนวโน้มในการทำกำไรที่ต่ำเมื่อเทียบกับปริษัทที่มีการปล่อยก๊าซฯที่น้อยกว่า ทั้งจากเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและผลกระทบจากนโยบายของภาครัฐ ดังนั้น การเร่งเปลี่ยนผ่าน
สู่พลังงานสะอาด จึงเป็นแนวโน้มที่จะได้เห็นในทศวรรษต่อจากนี้
ทั้งนี้ คาดว่า การลงทุนในพลังงานสะอาดทั่วโลก มีแนวโน้มเพิ่มเป็น 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2573 จากสิ้นปี 2565 มีการลงทุน 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ที่ทำให้การใช้พลังงานสะอาดมีต้นทุนต่ำลงและน่าสนใจ ซึ่งในเอเชียมีบริษัทที่ทำธุรกิจนี้ค่อนข้างมากและเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น จีน มีบริษัทผลิตแผงโซลาร์ใหญ่ที่สุดในโลก และมีแหล่งผลิตนิกเกิลและลิเธียม ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในห่วงโซ่อุปทานพลังงานสะอาด คิดเป็นสัดส่วนเกินครึ่งนึงของโลก Korea มีแหล่งผลิตพลังงานลมขนาดใหญ่ Australia มีการมุ่งเน้นพัฒนา Battery storage เป็นต้น
นายวีรวัฒน์ คิรินทร์รัตนะ Head of Distribution Sales Thailand, Amundi กล่าวว่า ในทุกภาคส่วนของไทย ทั้งรัฐบาลและเอกชน เริ่มตื่นตัวกับกระแสการดำเนินงานที่มุ่งสู่ Net Zero มากขึ้น โดยในส่วนของ Amundi มองว่า การดำเนินการตามเป้าหมาย Net Zero ต้องใช้ความพยายามเปลี่ยนแปลงในทันที ซึ่งเราได้ดำเนินการผ่าน 3 ด้าน คือ 1) ผลิตภัณฑ์ ผ่านการนำเสนอทางเลือกลงทุนที่มุ่งสู่ Net Zero ที่สอดคล้องกับนักลงทุนทุกประเภท 2) การเข้าไปมีส่วนร่วมและให้คำแนะนำแก่ลูกค้า การดำเนินการที่สอดคล้องกับ Net Zero และ 3) บริษัทที่เราเข้าไปลงทุน โดยมีส่วนร่วมส่งเสริมการปรับใช้และดำเนินการตามแผนการเปลี่ยนแปลงที่น่าเชื่อถือเพื่อมุ่งสู่ Net Zero
นอกจากนี้ เรายังใช้แนวทางที่ดีที่สุดเพื่อคัดกรองบริษัททั้งหมดที่ไม่ตรงตามเกณฑ์ ESG ของเราออกไป จากนั้นก็จะประเมินบริษัทที่เข้าเกณฑ์ ESG เป็นรายบริษัท เพื่อให้คะแนน ESG และวิเคราะห์ด้านอื่นๆ เพื่อประเมินความเหมาะสม สำหรับพอร์ตโฟลิโอ โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์การลงทุนที่วางไว้
สำหรับ กระแสการลงทุนใน ESG เราพบว่า ในปี 2565 มากกว่า 60% ของเงินลงทุนในกองทุนรวมดัชนี (ETF) จะอยู่ในกองทุนที่คำนึงถึงประเด็น ESG ส่วนผลิตภัณฑ์ ETF ใหม่ๆ ที่ออกมาในปี 2565 เป็น ETF ด้าน ESG ถึง 77% ขณะที่ เรามองว่า การลงทุนผ่านกองทุนที่คำนึงถึงเรื่อง ESG จะทำให้นักลงทุนคาดหวังผลตอบแทนพร้อมกับการสร้างความยั่งยืนให้กับโลกได้ โดยผู้จัดการกองทุนของเรามองว่า การลงทุนบนธีม ESG ควรกลายเป็นเงินลงทุนส่วนหลักของพอร์ต (Core Portfolio) ไม่ใช่เพียงการลงทุนในธีมเฉพาะทางที่เป็นส่วนเสริมของพอร์ต (Satellite Portfolio) อีกต่อไป
นายอาทิตย์ ทองเจริญ Head of Thailand Business, Schroders กล่าวว่า Schroders ได้จัดตั้งหน่วยงานเกี่ยวกับ ESG โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2541 เพื่อกำหนดนโยบายด้านความยั่งยืน นำประเด็น ESG มาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการลงทุน โดยปัจจุบัน มีการนำกระบวนการพิจารณาด้านความยั่งยืนและ ESG มาใช้ในการพิจารณาการลงทุนในสินทรัพย์ทั้งหมดของ Schroders โดยเรามองว่า นับจากนี้จะได้เห็นบริษัทต่างๆ เปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนมากขึ้น เช่น ผลกระทบในเชิงบวกที่กองทุนมีต่อสังคม ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของหลักทรัพย์ที่กองทุนลงทุน ประเด็นเรื่องความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม (diversity & inclusion) ของบริษัทที่ลงทุน ประเด็นเรื่องความโปร่งใสในการเปิดเผยรายงาน เป็นต้น
นอกจากนี้ เรามองว่า ในอนาคต Fund Fact Sheet ของกองทุนรวมต่างๆ ในไทย ต้องนำประเด็น ESG มาเผยแพร่เพิ่มเติม จากปัจจุบันเผยแพร่เพียงลงทุนอะไร มีสินทรัพย์ประเภทไหนบ้าง ลงทุนประเทศต่างๆ สัดส่วนเท่าไหร่ และผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร เพราะประเด็น ESG เป็นสิ่งที่นักลงทุนให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มาพร้อมโอกาสและความเสี่ยงในการลงทุน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง 4 ด้านที่มีผลต่อมูลค่า (Valuation) ธุรกิจ ได้แก่ การกำกับ หากบริษัทใดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มากกว่าที่ดูดซับได้ อาจจะต้องชดเชยด้วยคาร์บอนเครดิต ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัท ด้านเทคโนโลยี ที่บริษัทต้องลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงาน ด้านเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งบริษัทที่ธุรกิจด้านพลังงานดั้งเดิม เช่นพลังงานจากฟอสซิส ก็ต้องมีการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อเข้าสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น มิฉะนั้นก็จะกระทบกับ Valuation และด้านความเสี่ยงทางกายภาพ กรณีที่ปรับตัวช้าทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระทบเชิงกายภาพ บริษัทก็ได้รับผลกระทบตามด้วย
ในส่วนของนักลงทุน แม้การลงทุนโดยพิจารณาถึงสิ่งแวดล้อมจะมีความสำคัญมากขึ้น แต่จำนวนบริษัทที่มุ่งเน้นไปสู่ง Net Zero ปัจจุบันอาจจะมีสัดส่วนหรือจำนวนที่ยังไม่มากนักเพียงพอให้เลือกลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม หากมีการลงทุนโดยมุ่งเน้นเรื่องของสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทน และความเสี่ยงของการลงทุนที่กระจุกตัวจนเกินไป จึงควรมีการปรับพอร์ตแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยควรผสมผสานลงทุนในบริษัทที่มีการดำเนินการที่ดีด้านนี้ และบริษัทที่แม้ว่ายังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่อยู่ในขั้นปรับตัว เพื่อลดการปล่อยก๊าซ เพื่อให้มีจำนวนบริษัทที่ลงทุนได้มากขึ้น ทั้งยังเกิดประโยชน์ ด้านสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับด้านเม็ดเงินลงทุนเพื่อพัฒนาปรับปรุงบริษัทไปสู่ Net Zero ด้วย