แนะภาครัฐเร่งพัฒนาต่อยอดแหล่งท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดให้เกิดการท่องเที่ยวซ้ำ ก่อนการเที่ยวไทยจะกลายเป็น “เที่ยวเมืองไทย เคยไปมาแล้ว”
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดปี 2567 การท่องเที่ยวในประเทศเตรียมสร้างประวัติศาสตร์จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศเป็น
ปีที่ 2 ติดต่อกันสร้างเม็ดเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท ภายใต้ความกังวลจากโครงสร้างประชากรที่ลดลงและการดึงดูดให้เกิดการท่องเที่ยวซ้ำ (Revisit Intention) แนะภาครัฐเร่งพัฒนาต่อยอดขับเคลื่อนจุดเด่นเชิงวัฒนธรรม ผนวกกับวัตถุประสงค์พิเศษ ก่อนการเที่ยวไทยจะกลายเป็น “เที่ยวเมืองไทย เคยไป
มาแล้ว”
การท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นกิจรรมทางเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ และยังถือเป็นช่องทางสำคัญของการส่งผ่านเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวในพื้นที่หนึ่งให้เกิดการหมุนเวียนในพื้นที่ต่าง ๆ หลายพื้นที่โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่ปกติการหมุนเวียนของเม็ดเงินทางเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำ เป็นการเปิดโอกาสในการสร้างธุรกิจอันเป็นแหล่งงานตามแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นรากฐานการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยตามข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ชี้ให้เห็นถึงช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2562 การท่องเที่ยวในประเทศสามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้สูงกว่า 1.1 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากการพ่นพิษของโควิด-19 ทำให้การท่องเที่ยวในประเทศหยุดชะงักกระทันหันโดยรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศหดตัวลงเหลือเพียง 0.22 ล้านล้านบาท ในปี 2564 ก่อนที่ในปี 2566 สัญญาณการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวกลับมาชัดเจน ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศคาดว่าจะขยับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 254.4 ล้านคน-ครั้ง แต่จากภาวะหนี้ครัวเรือนและต้นทุนค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงของภาคครัวเรือนส่งผลต่อพฤติกรรมการปรับเปลี่ยนการท่องเที่ยวเป็น “เน้นการท่องเที่ยวไปเช้าเย็นกลับในจังหวัดข้างเคียง ลดระยะเวลาพักแรมในจังหวัดห่างไกล หรือเที่ยวต่างภูมิภาคในจังหวัดที่ใกล้เพื่อลดคืนพักแรม” ทำให้รายจ่ายต่อทริปลดลงส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศมีการเติบโตไม่สอดคล้องกันราว 0.8 ล้านล้านบาท
สำหรับปี 2567 ttb analytics ประเมินการท่องเที่ยวในประเทศยังสามารถสร้างประวัติศาสตร์เป็นปีที่ 2 ติดต่อกันในมิติด้านจำนวนนักท่องเที่ยว
ที่คาดสูงถึง 292.1 ล้านคน-ครั้ง ซึ่งแม้ยังอยู่ภายใต้บริบท “เที่ยวใกล้ ไปกลับ กระชับเส้นทาง” ส่งผลให้รายจ่ายต่อทริปลดลงแต่ด้วยการชดเชยของมิติจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศสามารถสร้างมูลค่าเกินกว่า 1 ล้านล้านบาท ได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในมิติเชิงลึก พบว่าในปี 2567 นี้ อาจเป็นจุดสูงสุดจากโครงสร้างอายุของประชากรวัยท่องเที่ยว (25 ปี – 65 ปี) เข้าสู่ระยะแรกของการลดลงครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี ที่อาจส่งผลต่อข้อจำกัดเรื่องการเพิ่มขึ้นของจำนวนการท่องเที่ยวระยะถัดไป
ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องวางแผนและพัฒนาการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อรับมือ เนื่องจากโปรเจกต์ Unseen Thailand หรือเที่ยวเมืองรองที่ไทยกำลังดำเนินการอย่างเข้มข้นกำลังเผชิญข้อจำกัด เมื่อแหล่งท่องเที่ยวที่ยังไม่เคยเห็น กลายเป็นสิ่งที่เห็นแล้ว จะสามารถต่อยอดเป็นอยากเห็นอีกได้หรือไม่ (Revisit Intention) และในกรณีที่ภาครัฐหรือหน่วยงานในพื้นที่ไม่สามารถชักจูงใจให้นักท่องเที่ยวเกิดการอยากกลับมาเที่ยวอีกครั้งได้ เกรงว่าแคมเปญ “เที่ยวเมืองไทย ไม่ไปไม่รู้” ที่เคยส่งผ่านการเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวใหม่อาจกลายเป็น “เที่ยวเมืองไทย เคยไปมาแล้ว” ttb analytics จึงเสนอแนะในการพัฒนาการท่องเที่ยวไทยให้สามารถมีการเติบโตที่ยั่งยืนเพื่อต่อยอดให้เกิดความต้องการท่องเที่ยวอีกครั้ง ดังนี้
1) เชื่อมโยงสิ่งดึงดูดการท่องเที่ยวทางธรรมชาติเพื่อต่อยอดและยกระดับสิ่งดึงดูดเดิมที่มีอยู่ เช่น สร้างการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในพื้นที่ใกล้เคียงโดยอาศัยความเกี่ยวโยงเชิงภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือวัฒนธรรม เพื่อสร้างเรื่องราว (Journey) แห่งการเดินทางเพื่อเสริมความประทับใจ และสามารถบอกเล่าความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวที่ยังไม่ได้มาให้เกิดความสนใจ (Storytelling) โดยพัฒนาต่อยอดเรื่องราวการเดินทางในบริบทถัดไปที่มีความคล้ายกัน หรืออาจเป็นอารมณ์ที่ต่างกันออกไป
2) สร้างสรรค์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Attraction) เร่งพัฒนาจุดเด่นเชิงวัฒนธรรม (Cultural Attraction) เสริมเรื่องราวความน่าสนใจทั้งในส่วนของงานศิลป์ที่สะท้อนวิถีชีวิตที่มีความต่างกันไปในแต่ละสังคมสะท้อนผ่านวัฒนธรรมทางวัตถุ รวมถึงการขับเคลื่อนผ่านวัฒนธรรมทางจิตใจที่สะท้อนผ่านความเชื่อที่นักท่องเที่ยวสามารถไปสักการะเพื่อความเป็นศิริมงคล เสริมสร้างความมั่นใจ ที่ส่งผลดีต่อการตัดสินใจในการเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้น บนพื้นฐานที่อธิบายได้ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ผู้คนส่วนมากมักหลีกหนีความเสี่ยงและไม่ยอมเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ส่งผลต่อการเสียโอกาสดีที่จะเข้ามาในชีวิต แต่เมื่อได้ไปสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานตามสถานที่ต่าง ๆ ของแต่ละปัจเจก ย่อมส่งผลให้ผู้คนบางส่วนมีความเชื่อมั่นที่จะเลือกทางเลือกที่มีความเสี่ยงมากขึ้นเพื่อหาโอกาสให้ตนเองมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในอนาคต ซึ่งพลังที่ได้รับจากการส่งผ่านวัฒนธรรมด้านจิตใจ และความเชื่อ สามารถส่งผ่านเป็น Soft Power ที่ทรงพลังจากการตอบโจทย์พื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่ต้องการประสบความสำเร็จในสิ่งที่คาดหวัง
3) เชื่อมโยงวัตถุประสงค์อื่นให้ผนวกเข้ากับการท่องเที่ยว เนื่องจากการท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อการพักผ่อน ซึ่งอาจเกิดข้อจำกัดในด้านการกลับมาท่องเที่ยวซ้ำ ดังนั้น การผนวกเข้ากับความสนใจพิเศษอื่น (Special Interest Tourism) เช่น ในภาพใหญ่ของประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) โดยในภาพย่อยรายพื้นที่ อาจใช้ความสนใจที่หลากหลายและใช้จุดเด่นที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬาโดยหลายพื้นที่เริ่มได้รับการยกระดับเป็นงานประจำปี หรือการท่องเที่ยวเชิงผจญภัย หรือแม้แต่ในรูปแบบการท่องเที่ยวที่เป็นการอาศัยพักแรมระยะยาวที่สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
โดยสรุป สถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศปี 2567 คาดฟื้นตัวสมบูรณ์ทั้งในมิติของจำนวนและรายได้จากการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวไทยขับเคลื่อนผ่านสิ่งดึงดูดที่มีอยู่เดิมตามธรรมชาติในแต่และพื้นที่ แต่มักไม่ต่อยอดพัฒนาให้มีแรงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวกลับไปท่องเที่ยวซ้ำ
ด้วยเหตุนี้ บนมิติของโครงสร้างประชากรนักท่องเที่ยวเริ่มมีจำนวนลดลงนับจากปี 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะสร้างตัวเลขสูงสุดได้ 2 ปีต่อเนื่อง
ก็อาจเป็นจุดสูงสุดสุดท้ายและกลายเป็นเพียงหน้าประวัติศาสตร์ เมื่อกระแสการท่องเที่ยวทุกอย่างไม่ได้รับการพัฒนาต่อยอดและความนิยมเริ่มจืดจางไปตามกาลเวลา