ตร.สรุปผลคดี บจก.ซิปเม็กซ์ หลอกลงทุนสูญกว่า900ล.ชงDSIรับเป็นคดีพิเศษ

339


วันนี้ 20 ธันวาคม 2566 พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา
ผบช.สอท. พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผบก.ตอท.บช.สอท. นางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) น.ส.นภนวลพรรณ ภวสันต์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายนวัตกรรมทางการเงินและเทคโนโลยีดิจิทัล ก.ล.ต.
นายนพดล อุเทน ที่ปรึกษาด้านกฎหมายและพัฒนามาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และ นายพีรธร วิมลโลกการ ผู้อำนวยการกองกำกับและตรวจสอบ ปปง. ร่วมกันแถลงข่าว กรณีมีประชาชนจำนวนมากที่ได้รับความเสียหายมาร้องทุกข์ต่อ พนักงานสอบสวน บช.สอท., ปอศ. และสถานีตำรวจต่างๆ ทั่วประเทศ ให้ดำเนินคดีกับบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด และ นายเอกลาภ (สงวนนามสกุล)​ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ ในฐานความผิด ฉ้อโกงประชาชน

ซึ่งจากข้อเท็จจริงพบว่า บริษัท ซิปเม็กซ์ฯ ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. เมื่อปี 2561 ให้มีบริการการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ต่อมาในปี 2563 ได้มีการชักชวนประชาชนให้นำสินทรัพย์ดิจิทัลไปฝากไว้กับทางบริษัท ซิปเม็กซ์ฯ ภายใต้บริการที่มีชื่อเรียกว่า Zip up และ Zip up+ โดยเป็นบริการเปิดรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลจากลูกค้าและจะให้ผลตอบแทนเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งนี้ บริษัท ซิปเม็กซ์ฯ ได้โอนสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าที่มาลงทุนไปยังต่างประเทศเพื่อลงทุนกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ขาดทุนจนไม่สามารถนำมาเงินมาคืนให้กับลูกค้า จนกระทั่งวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 บริษัท ซิปเม็กซ์ฯ ได้ประกาศระงับการถอนเงินบาทและสินทรัพย์ดิจิทัลจาก “ZipUp” หรือ “Z Wallet” ทำให้ผู้ลงทุนได้รับความเสียหาย ต่อมา ก.ล.ต. ได้ดำเนินการตรวจสอบและสั่งให้ บริษัท ซิปเม็กซ์ฯ นำส่งข้อมูลเกี่ยวกับกิจการและการดำเนินงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง แต่บริษัท ซิปเม็กซ์ฯ ไม่นำส่งข้อมูลดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด

ทั้งนี้ เมื่อได้รับการแจ้งเตือนจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก็นำส่งข้อมูลเพียงบางส่วน ไม่ครบถ้วน จึงได้กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กรณีบริษัท ซิปเม็กซ์ฯ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 51 ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 75 ตาม พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561ทั้งนี้ นอกเหนือจากการกล่าวโทษดังกล่าว ก.ล.ต. ได้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับ บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด และ นายเอกลาภฯ รวมแล้วเป็น จำนวน 10,977,000 ล้านบาท ในฐานความผิดที่เกี่ยวข้อง ตาม พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561


สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตระหนักถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเป็นวงกว้างกับประชาชน จึงได้มีคำสั่งที่ 411/2566 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน เพื่อรับผิดชอบการสืบสวนคดีดังกล่าว โดยได้รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งสอบปากคำผู้เสียหาย จำนวน 485 คน (เอกสารคำให้การ 20,210 แผ่น) รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 900 ล้านบาท (คาดว่าจะมีผู้เสียหายมาร้องทุกข์เพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง) ทางคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของ บริษัท ซิปเม็กซ์ฯ เป็นความผิดฐาน “ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตาม มาตรา 4, 5, 12, 15 แห่ง พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และความผิดตาม มาตรา 75 แห่ง พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 และ ความผิดมาตราอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน” ประกอบกับคดีนี้มีธุรกรรมทางการเงินที่มีความสลับซับซ้อนต้องรวบรวมและวิเคราะห์พยานหลักฐานจำนวนมาก ซึ่งมีจำนวนผู้เสียหายตั้งแต่สามร้อยคนขึ้นไป หรือมีจำนวนเงินที่กู้ยืมรวมกันตั้งแต่หนึ่งร้อยล้านบาทขึ้นไปอันเข้าลักษณะการเป็นคดีพิเศษ ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 จึงได้มีหนังสือส่งสำนวนการสอบสวนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ พิจารณารับเป็นคดีพิเศษ ตามระเบียบและกฎหมายต่อไป

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #เงินดิจิตอล