ป.ป.ส. หารือ ประธานแผนกคดียาเสพติด ร่วมขับเคลื่อนประมวลกฎหมายสู่การปฏิบัติอย่างถูกต้อง มุ่งประโยชน์ต่อประชาชน

298

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 15.30 น. พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. รักษาราชการ เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้หารือกับ นายปุณณะ จงนิมิตสถาพร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานแผนกคดียาเสพติดในศาลฎีกา พร้อมด้วย นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. โดยมีประเด็นหารือในการหาแนวทางการนำประมวลกฎหมายยาเสพติดไปสู่การปฏิบัติจริงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายยาเสพติด

ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 เป็นการรวมกฎหมายยาเสพติดที่เดิมกระจายอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ ซึ่งยากต่อการทำความเข้าใจ ให้อยู่ในกฎหมายฉบับเดียว ที่สำคัญคือการเปลี่ยนมุมมองในการแก้ไขปัญหายาเสพติด จากเดิมที่มองว่าเป็นปัญหาทางอาชญากรรมอย่างเดียว เป็นการมองในมิติปัญหาด้านสาธารณสุข คือการให้โอกาส ให้ความช่วยเหลือ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของยาเสพติด โดยนโยบายการลงโทษผู้กระทำผิดจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ นายทุน แรงงาน และเหยื่อ ซึ่งประมวลกฎหมายยาเสพติดจะมุ่งต่อการทำลายโครงสร้างเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดมากกว่าผู้เสพที่เป็นเหยื่อ และแยกคดีทรัพย์สินไม่ผูกติดกับคดีอาญา ให้อำนาจศาลในการริบทรัพย์สินตามมูลค่า (Value-based Confiscation)

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวว่า ด้วยประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่มีแนวคิดแนวปฏิบัติที่เปลี่ยนแปลงหลายประการ จึงสำคัญในการทำความรู้ความเข้าใจ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ การแก้ไขปัญหายาเสพติดตามเจตนารมณ์ประมวลกฎหมายยาเสพติด สอดคล้องกันและเกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการช่วยอย่างดีจากสำนักงานศาลยุติธรรม และท่านผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติด

รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เห็นถึงความสำคัญและมอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดหลักการประมวลกฎหมายยาเสพติดซึ่งอย่างจริงจัง ทั้งหลักการ “เปลี่ยนผู้เสพ เป็นผู้ป่วย” และการการขจัดปัญหาอย่างครบวงจร ใช้วงจรตัดวงจรผู้ค้ายาเสพติด และการสกัดกั้นยาเสพติดจากชายแดน

โดยเพื่อลดประเด็นปัญหาอุปสรรคในการเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติในช่วงรอยต่อของกฎหมาย ที่ยังคงพบการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องในทิศทางเดียวกัน  จึงต้องมีการพูดคุยถึงแนวทางปฏิบัติระหว่างหน่วยงานต่าง ๆให้เกิดมาตรฐานในการทำงาน ซึ่งขอความร่วมมือกับ แผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งประชุมชี้แจง แลกเปลี่ยนถ่ายทอดความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประมวลกฎหมายยาเสพติดนำไปสู่ประโยชน์อย่างเต็มที่ต่อไป

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวในตอนท้ายว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาตามประมวลกฎหมายาเสพติด ได้ปรับแนวทางให้สอดคล้องกับทิศทางของนโยบายยาเสพติดโลกหลังการประชุมสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก 2016 (UNGASS 2016) ซึ่งเป็นผลมาจากบทเรียนการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ผ่านมาที่ชี้ว่าการใช้การปราบปรามยาเสพติดด้วยวิธีการลงโทษที่แข็งกร้าวไม้ได้ทำให้ปัญหายาเสพติดลดลงและยังส่งผลต่อปัญหาอื่นๆตามมา การปรับแนวทางดังกล่าวไม่สามารถทำให้ปัญหายาเสพติดหมดไป แต่เป็นการปรับเพื่ออยู่กับยาเสพติดอย่างไรให้เกิดผลกระทบต่อสังคมน้อยที่สุด ซึ่งแนวทางของประมวลกฎหมายยาเสพติดนี้ต้องเร่งสร้างความเข้าใจทั้งกับเจ้าหน้าที่และชุมชนในการเปลี่ยนมุมมอง การแก้ไขปัญหาจึงจะเป็นรูปธรรม และลดความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจากปัญหายาเสพติดได้อย่างยั่งยืน

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์