“วราวุธ”ย้ำไทยยังคงยืนหยัดเพื่อคนตาบอด เสริมพลังความเท่าเทียม หนุนใช้ชีวิตอย่างอิสระ ในการประชุมสมัชชาสหภาพคนตาบอดโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ที่ จ.ภูเก็ต

386

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.30 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดการประชุมสมัชชาสหภาพคนตาบอดโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (World Blind Union-Asia Pacific Mid-term Regional General Assembly) สนับสนุนโดยกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งมี นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวต้อนรับ นายหลี่ ชิงจง ประธานสหภาพคนตาบอดโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และนายเอกกมล แพทยานันท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย (ประธานคณะกรรมการการจัดงานฯ) กล่าวรายงานการจัดงานฯ พร้อมทั้ง นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายพิสิฐ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ Mrs. Martine Abel – Williamson ประธานสหภาพคนตาบอดโลก ผู้แทนคนตาบอดจากองค์กรสมาชิกของสหภาพคนตาบอดโลกภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก จำนวน 21 ประเทศ ผู้นำคนตาบอดจากองค์กรเครือข่าย รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานที่ทำงานด้านคนตาบอดและคนพิการในระดับประเทศ รวมทั้งสิ้น 350 คน เข้าร่วม ณ โรงแรมดวงจิตต์ รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดภูเก็ต

นายวราวุธ กล่าวว่า ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) การตาบอดหรือการบกพร่องทางการมองเห็นเป็นความพิการในอันดับสามจากทั่วโลก และในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก คาดว่ามีคนตาบอดจำนวนกว่า 20 ล้านคน เป็นจำนวนที่มากที่สุดในโลก เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ และการเพิ่มขึ้นของโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน จะทำให้เกิดจำนวนคนตาบอดและคนบกพร่องทางการมองเห็นมากขึ้น ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มดังกล่าวสามารถดำเนินชีวิตที่ดีขึ้น ในขณะที่ ประเทศไทย มีคนตาบอดและคนบกพร่องทางการมองเห็นจำนวนเกือบสองแสนคน และมีแนวโน้มจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งนี้ ตามที่ตนได้เป็นประธานในการประชุมประชากรแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 7 ที่กรุงเทพฯ โดยมีการเปิดเผยข้อมูลว่า ในปัจจุบันประชากรทั่วโลกต้องการความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกันกับคนตาบอด แต่ด้วยวิกฤตทางสภาพแวดล้อม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคระบาด และเหตุการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development goals: SDGs) ได้เน้นย้ำเรื่องการเสริมพลังความเท่าเทียม และการครอบคลุมการใช้ชีวิตของคนทุกคน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างให้โลกดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้เมื่อเสียงของคนทุกคนถูกได้ยิน

นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ เรามาเกินครึ่งทางของการไปสู่ SDGs ภายในปี 2030 ซึ่งหมายความว่าเราเหลือเวลาเพียง 7 ปี ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งตนอยากจะเน้นย้ำว่า การให้ความสำคัญในการเสริมพลังความเท่าเทียม และการครอบคลุมคนพิการทุกคนในสังคม เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน ตลอดจนการตระหนักว่าคนพิการมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาของโลก เนื่องจากคนพิการ เป็นคนที่มีความกล้าหาญอย่างมาก มีความมุ่งมั่นที่จะใช้ชีวิตและทำงานเลี้ยงดูตนเองและเป็นหัวหน้าครอบครัว ชุมชน และทำให้โลกดีขึ้น ส่วนใหญ่ คนตาบอดและคนที่มีความบพร้องทางการมองเห็น มีความอ่อนแออย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศและความขัดแย้งต่าง ๆ รวมถึงขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา การดูแลสุขภาพ ตลอดจนโอกาสทางเศรษฐกิจ ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.)ได้ทดลองนั่งรถวีลแชร์และพยายามที่จะเดินทางบนทางเท้าสาธารณะ และใช้ขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ซึ่งการทดลองดังกล่าว ทำให้ผมตาบอดโดยใช้ผ้าปิดตา และเดินโดยใช้ไม้เท้าบนทางเท้าสาธารณะที่เป็นแบบอารยสถาปัตย์ และเดินข้ามถนนบนทางแยกหนึ่งที่วุ่นวายที่สุดในกรุงเทพฯ โดยต้องยอมรับว่าเป็นการผจญภัยที่ยิ่งใหญ่สำหรับตน อย่างไรก็ตาม ตนได้แรงบันดาลใจจากคนพิการที่พบระหว่างการทดลองเป็นคนพิการ ทำให้ได้คำตอบ คือเราจะต้องทำให้มากกว่านี้

นายวราวุธ กล่าวต่อไปอีกว่า กระทรวง พม. ได้ขับเคลื่อนการทำงานด้านคนพิการมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ 1) การเข้าร่วมเวทีระดับโลก เพื่อเร่งขับเคลื่อนการทำงานไปสู่ SDGs ภายในปี 2030 นอกจากนี้ ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายและยุทธศาสตร์ในระดับชาติเป็นหนึ่งเดียวกัน กับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the rights of persons with disabilities : CRPD) โดยการขยายโอกาสและส่งเสริมความเท่าเทียม ด้วยการสะท้อนความท้าทายต่าง ๆ ที่ยังมีอยู่ ซึ่งเราได้ทำงานอย่างกระตือรือร้นเพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์หลักของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ โดยการต่อสู้เพื่อรับรองสิทธิของคนพิการทุกคนในทุกแง่มุม รวมถึงการเข้าถึงการดำรงชีวิตอย่างอิสระ และการครอบคลุมทางสังคมอย่างยั่งยืน 2) การเพิ่มการพัฒนาทางสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพื่อคนพิการ โดยรัฐบาลมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ครอบคลุมสิทธิของคนพิการ และประกอบไปด้วยแนวคิดในการขจัดการเลือกปฏิบัติ และถูกแก้ไขในปี พ.ศ. 2556 เพื่อรับรองให้คนพิการสามารถเข้าถึงการบริการสาธารณะและสวัสดิการต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพและสะดวกมากยิ่งขึ้น การจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการ การบังคับใช้นโยบายที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกระทรวง พม. คือ ระบบการขึ้นทะเบียนความพิการ รวมถึงคนตาบอดและคนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น จะต้องลงทะเบียนเพื่อที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จากบัตรประจำตัวคนพิการ เช่น บริการทางสุขภาพและขนส่งสาธารณะ สวัสดิการและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เช่น การกู้ยืมเงินจากกองทุนส่งเสริมและสนับสนุนคุณภาพชีวิตคนพิการ การบริการช่วยเหลือคนพิการ บ้านพักสำหรับคนพิการ การพัฒนาทักษะอาชีพ และการบำบัดรักษาอื่น ๆ และ 3) โครงการ Equal ที่ตัวย่อมาจาก การเสริมพลัง คุณภาพชีวิต ความเข้าใจ การเข้าถึง การเชื่อมโยง โดยถูกใช้เป็นหลักการหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานไปข้างหน้า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนพิการในประเทศไทย

นอกจากนี้ เรามีความพยายามที่จะฟื้นตัวจากผลกระทบของการระบาดของโรคโควิด – 19 จึงมีนโยบายและมาตรการเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการใช้ชีวิตของคนพิการ เช่น การขยายศูนย์บริการคนพิการ เพื่อให้ครอบคลุมโรงพยาบาลในระดับท้องถิ่นทั่วประเทศ มีการเพิ่มศักยภาพของคนพิการผ่านโครงการฝึกอบรมอาชีพ การเพิ่มการเข้าถึงการบริการทางสุขภาพผ่านระบบดิจิทัลและผ่านโทรศัพท์มือถือ โครงการครอบครัวอุปการะ ที่เสนอให้เงินสนับสนุนแก่ครอบครัวที่ประสงค์จะอุปการะคนพิการ เพื่อเพิ่มโอกาสให้คนพิการสามารถที่จะอยู่อาศัยในชุมชนได้อย่างมีความสุข

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ดังนั้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า การเข้าถึงข้อมูลการศึกษา การบริการทางสาธารณะและสุขภาพอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขนส่งสาธารณะ และโอกาสทางการทำงาน จะต้องเปิดกว้างให้คนพิการ ซึ่งตนได้มอบหมายกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ทบทวนพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงเชิงประชากร ภูมิรัฐศาสตร์ วิกฤตการณ์ทางสภาพแวดล้อม ที่รวมถึงสภาวะโลกร้อน การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและมลพิษ ทั้งนี้ เราต้องเร่งดำเนินการในการยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงานของนโยบายและการนำนวัตกรรมมาใช้ ไม่ใช่เพียงแต่การดูแลและการฟื้นฟูสมรรถภาพเท่านั้น แต่เพื่อป้องกันอีกด้วย นอกจากนี้ เราจะต้องร่วมมือกันอย่าจริงจังกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับอาสาสมัคร เพื่อให้มั่นใจว่าคนพิการได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสม ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติในสังคม อย่างไรก็ตาม เราจะต้องจำไว้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่สิ่งที่เขาต้องการคือโอกาส

“วันนี้ นับเป็นโอกาสที่ดีที่เราทุกคนได้มาร่วมประชุมกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิด และผลการดำเนินงานที่ดี ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่สัมพันธ์กับคนตาบอด โดยเฉพาะในด้านงานวิจัยและนวัตกรรม ในโอกาสนี้ ประเทศไทยยังคงยืนหยัดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับคนตาบอดและคนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น เราสัญญาว่า เราจะบูรณการความร่วมมือกับ สหภาพคนตาบอดโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และหน่วยงานภาคีเครือข่ายให้มากยิ่งขึ้น เพื่อต่อสู้ให้คนตาบอดสามารถใช้ชีวิตปกติอย่างอิสระได้ ด้วยการสนับสนุนอย่างเหมาะสมในทุกแง่มุมของชีวิตของคนตาบอดและคนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น” นายวราวุธ กล่าวในตอนท้าย

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์