ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีมติเอกฉันท์ 179 คะแนนเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธาน สนช.คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติ อันจะมีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 20 ปี ตาม พ.ร.บ.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560
ดยพล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ แถลงหลักการและสาระสำคัญ โดยเน้นย้ำเพื่อใช้เป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน มีการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล ตามหลักการที่ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติปี 2560 กำหนดไว้ รวมถึงการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง – ศาสตร์พระราชา การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น โดยสมาชิก สนช. ส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุนร่างยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเป็นแผนการพัฒนาประเทศระยะยาว
กระบวนการต่อไป ประธาน สนช. จะนำร่างยุทธศาสตร์ชาติที่ สนช. ให้ความเห็นชอบแล้วส่งมอบให้นายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติจาก สนช. และทันทีที่มีพระบรมราชโองการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน จัดทําแผนแม่บทเพื่อบรรลุเป้าหมายที่กําหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติแล้วเสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแผ่นแม่บทต่างๆ ซึ่งมีผลตามมาตรา 25 และมาตรา 26 ของ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ผูกพันหน่วยงานของรัฐให้ต้องปฏิบัติตาม และมีผลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 142 และ 162 ผูกพันการกำหนดนโยบายและงบประมาณของของรัฐบาล
สําหรับร่างยุทธศาสตร์มีสาระสําคัญ 6 ด้านดังนี้
1.ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงมีเป้าหมายการพัฒนาที่สําคัญ คือ ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เน้นการ บริหารจัดการสภาวะแวดล้อมของประเทศให้มีความมั่นคง ปลอดภัย และมีความสงบเรียบร้อยในทุกระดับ ควบคู่ไปกับ การป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
2.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มุ่งเน้น การยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติ บนพื้นฐานแนวคิด 3 ประการ ได้แก่ (1) “ต่อยอดอดีต” โดยมองกลับไปที่รากเหง้านํามาประยุกต์ผสมผสานให้สอดรับกับ บริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลกสมัยใหม่ (2) “ปรับปัจจุบัน” เพื่อปูทางสู่อนาคต ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ของประเทศในมิติต่างๆ (3) “สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต” ด้วยการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ เพื่อตอบสนองต่อ ความต้องการของตลาด
3.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้ เป็นคนดี เก่ง มีคุณภาพ และเป็นพลเมืองดีของชาติ
4.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมให้ความสําคัญการดึงเอาพลังของ ภาคส่วนต่างๆ ร่วมขับเคลื่อน โดยการสนับสนุนการรวมตัวของประชาชนในการร่วมคิดร่วมทําเพื่อส่วนรวม
5.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายเพื่อนําไปสู่การบรรลุเป้า หมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ
6.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ มีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนภาครัฐ โดย ภาครัฐต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับบทบาทภารกิจ และพร้อมที่จะปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่ตลอด เวลา และสร้างจิตสํานึกในการปฏิเสธไม่ยอมรับการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างสิ้นเชิง