รักษาการ เลขา ป.ป.ส. ร่วมประชุม ศอ.ปส.ตร. ประสานตำรวจหนุน 2 ภารกิจเร่งด่วนแก้ปัญหายาเสพติด Quick win

515

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 21 พ.ย. พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. รักษาราชการแทน เลขาธิการ ป.ป.ส. เข้าร่วมประชุม ศอ.ปส.ตร. (ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ครั้งที่ 1/2567 โดยมี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. เป็นประธานฯ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ ห้องประชุมศรียานนท์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

การประชุมมีประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่ง พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ รักษาราชการแทน เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้แถลงแลกเปลี่ยนสร้างความเข้าใจร่วมกับที่ประชุมถึงภารกิจตามปฏิบัติการการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดระยะ 1 ปี ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตั้งไว้ในการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดและปัญหาที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อความสงบสุขของประชาชน

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ได้ขอความร่วมมือหน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงเรื่องที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน (Quick win) 2 ปฏิบัติการ และจะต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 นี้ คือ

การแก้ไขผู้มีอาการทางจิตเวชจากยาเสพติด โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายอำเภอที่มีความเสี่ยงต่อเหตุรุนแรง ที่มาจากการสำรวจผู้มีอาการทางจิตเวชจากยาเสพติดทั่วประเทศจำนวน 32,263 คน โดยในช่วงแรกเน้นกลุ่มผู้มีอาการทางจิตเวชจากยาเสพติดที่เป็นกลุ่มเผ้าระวังสูงและสูงสุด จำนวน 6,987 คน ซึ่งได้ประสานขอให้หน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมดำเนินการกับสำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานในพื้นที่ วางแผนอบรมให้ความรู้แก่ ภาคีเครือข่ายใน 29 จังหวัดเป้าหมาย ในการค้นหาและนำส่งผู้ป่วยจิตเวช โดยสำนักงาน ป.ป.ส. จะพิจารณาสนับสนุนงบประมาณ ให้แก่ ตำรวจ ค่าใช้จ่ายในการค้นหาและนำส่งผู้ป่วยจิตเวช ไปสถานพยาบาล และภายหลังจากกลับคืนสู่ชุมชน โดย สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ประสานงานกับ กระทรวงกลาโหม ในการใช้โรงพยาบาลของหน่วยทหาร เข้ามาร่วมภารกิจนี้ด้วย

การเตรียมความพร้อม ในการกำหนดพื้นที่เร่งด่วนตามมาตรา 5(10) ของประมวลกฎหมายยาเสพติด ในพื้นที่ที่เป็นจุดที่มีการนำเข้ายาเสพติด ในภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัด เชียงใหม่ จำนวน 5 อำเภอ (อำเภอแม่อาย ฝาง เชียงดาว เวียงแหง และไชยปราการ) และจังหวัดเชียงราย จำนวน 6 อำเภอ (อำเภอแม่จัน แม่ฟ้าหลวง แม่สาย เชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่น) และในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครพนม จำนวน 4 อำเภอ (อำเภอท่าอุเทน เมืองนครพนม ธาตุพนม และบ้านแพง) ซึ่งต้องอาศัยสรรพกำลังของสำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ดำเนินการร่วมกันภายใต้ ชื่อ “หน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคเหนือ (นบ.ยส.35) ดูแลในพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย และ “หน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ชายแดน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นบ.ยส.24) ดูแลในพื้นที่ จังหวัดนครพนม ซึ่งได้มอบหมายให้ ผอ.ปปส.ภาค 4 และ ผอ.ปปส.ภาค 5 ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการประสานงานและผนึกกำลังจากทุกภาคส่วน และสำนักงาน ป.ป.ส. จะจัดสรรงบประมาณที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติการ

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์