“เด็กพิการเรียนไหนดี’67”

26037

สสส. – กทม. – มูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม – บ.กล่องดินสอ สานพลังองค์กร-โรงเรียน-มหาลัยฯ กว่า 90 แห่ง จัดมหกรรมแนะแนวการศึกษา รวมเทคนิคสัมภาษณ์ ปั้นพอร์ตสุดปัง เพิ่มพลังใจ สู่รั้วมหาลัยฯ หลังพบคนพิการในไทยจบมหาลัยฯ เพียง 1% ทั่วประเทศ


เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 66 ที่อาคาร ไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร  มูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม  บริษัท กล่องดินสอ จำกัด จัดงาน “เด็กพิการเรียนไหนดี ปี 67” มหกรรมแนะแนวการศึกษาต่อระดับชั้นอุดมศึกษา และอาชีวศึกษาสำหรับเด็กพิการจากทั่วประเทศ ปีที่ 5 มีกิจกรรม Work shop “ปั้นพอร์ต” แนะแนวแฟ้มสะสมผลงานนำเสนอมหาวิทยาลัย เทคนิค “ปั้นคำ” การสอบสัมภาษณ์ และบุคลิกภาพ โดยรุ่นพี่นักศึกษาพิการที่มีประสบการณ์ พร้อมบูธสถาบันการศึกษา เพื่อพบปะ และตอบข้อสงสัยให้กับนักเรียน ผู้ปกครองโดยตรง มีองค์กร โรงเรียน มหาวิทยาลัยเข้าร่วมกว่า 90 แห่ง

นางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครขับเคลื่อนนโยบายด้านคนพิการ 5 ด้าน สุขภาพ การศึกษา เศรษฐกิจ การเดินทาง และการบริหารจัดการ ปัจจุบันมีนักเรียนพิการประมาณ 4,000 คน ในโรงเรียนสังกัด กทม. ที่ผ่านมา นักเรียนที่พิการมีข้อจำกัดในการเข้าถึงการศึกษา ทั้งความยากจน ปัญหาการเดินทางสาธารณะ สถานศึกษา บุคลากรไม่พร้อมรองรับ ทำให้เด็ก และเยาวชนที่พิการจำนวนไม่น้อย ต้องหยุดเรียนออกจากระบบ เมื่อความรู้มีจำกัด ทำให้ทางเลือกในอาชีพมีจำกัด ส่งผลต่อรายได้ ทำให้คนพิการหลายคนรู้สึกไม่ภาคภูมิใจ เพราะเขาไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ กรุงเทพมหานคร ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการจ้างงานคนพิการ ปัจจุบันมีคนพิการที่ปฏิบัติงานในสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร 50 เขตกว่า 300 คน โดยตั้งเป้าให้ถึง 600-800 คน ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า พร้อมพัฒนาระบบทำงาน พัฒนาเมือง ตามหลักการออกแบบสำหรับทุกคน (Universal Design) โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนให้กรุงเทพฯ น่าอยู่ขึ้น

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า  สสส.ขับเคลื่อนประเด็นคนพิการ และให้การสนับสนุนภาคีเครือข่าย ภายใต้โครงการที่เกี่ยวข้องการศึกษาเรียนรู้ของเด็กพิการ เน้นสร้างองค์ความรู้ ออกแบบห้องเรียนที่นักเรียน/นักศึกษาพิการ และไม่พิการเรียนร่วมกัน ขยายผลสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ฝึกอบรมทักษะเพิ่มศักยภาพแข่งขันในตลาดแรงงาน หลักสูตรผู้สอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษระดับประถมศึกษา (ประเภทความบกพร่องทางสติปัญญา) พัฒนาแอปพลิเคชัน “พรรณนา” ช่วยคนตาบอดดูหนัง ต่อยอดเป็นโปรแกรม “โวหาร” สร้างเสียงบรรยายภาพ นวัตกรรมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ภายใต้มาตรา 33 และมาตรา 35 ให้คนพิการมีอาชีพ ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา สร้างโอกาสงานกว่า 50,000 โอกาสงาน 5,500 ล้านบาทถึงมือคนพิการโดยตรง

“เป้าหมายของการจัดมหกรรมฯ คือ สร้างโอกาสทางการศึกษา หลังพบคนพิการเป็นกลุ่มที่หลุดออกจากระบบการศึกษากลางคัน ทั้งพบคนพิการเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาเพียง 1% เท่านั้น งานครั้งนี้เป็นประตูด่านแรกสู่การ ค้นหาจุดหมายปลายทาง วางแผนการศึกษา มองหาสถาบันที่รองรับสำหรับคนพิการ รวมถึงเพิ่มพลังใจจากการรับฟังรุ่นพี่นักศึกษาผู้พิการ ที่มาบอกเล่าประสบการณ์การเข้ารั้วมหาวิทยาลัย โดย สสส. จะมีโครงการเชื่อมต่อกับกรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลการศึกษาสำหรับเด็กพิการ และอนาคตวางแผนใช้ระบบ Heart2Heart คือ platform ให้คนพิการที่ทำงานในเขตของ กทม. เป็น Chat Agent ตอบคำถามบริการกับประชาชนผ่านทางระบบ Chat ต่อไป” นางภรณี กล่าว

นายลัทธโชติ ไชยสวัสดิ์ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนโสตศึกษา จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า รู้สึกดีใจมาก เพราะเชื่อว่าเด็กพิการทุกคนอยากเรียนสูง ๆ ในวิชาที่ชอบ ทำอาชีพที่ใช่ เพื่ออนาคตที่ดีดูแลตัวเองได้ งานวันนี้ทำให้รู้ว่า เด็กพิการก็มีสิทธิ์ฝันมองหาโอกาสที่หลากหลาย เพราะมีหน่วยงาน องค์กร สถาบันฯ พร้อมขับเคลื่อนเปิดโอกาสให้เด็กพิการสร้างพื้นที่แห่งความหวัง ให้มีความอุ่นใจมีคนให้คำแนะนำได้ ปัญหาเรื่องการศึกษาของเด็กพิการ ต้องมีความช่วยเหลือจากหลายฝ่าย ทั้งนโยบายภาครัฐ และการร่วมมือภาคเอกชน หวังว่าเพื่อน ๆ ทุกคนจะได้พบคำตอบที่กำลังมองหาจากงานมหกรรมฯ ครั้งนี้

#Thaitabloid  #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์