นโยบายแจกเงินดิจิตอล 10,000 บาท ของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย กลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางทั้งคัดค้านและสนับสนุน
ซีกค้านจุดประเด็นได้แรงคือกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ 99 คน นำโดยอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.)และอดีตรองผู้ว่าธปท.อย่างน้อย 4 คน ออกแถลงการณ์ร่วมกับนักวิขาการด้านเศรษฐศาสตร์เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายเพราะได้ไม่คุ้มเสีย ยกเหตุผล 4 ข้อ คือ เศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว งบประมาณของรัฐมีจำกัดทำให้เสียโอกาสในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน คาดหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติเป็นการคาดหวังที่เกินจริง และทำให้รัฐบาลและคนทั้งประเทศต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
มีเสียงขานรับจากชนชั้นกลาง และชนชั้นสูงบางกลุ่ม นักวิชาการบางคน รวมถึงสส.ในซีกฝ่ายค้านและสว.บางกลุ่ม แต่ละกลุ่มล้วนแต่มีอคติกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด
ซีกที่สนับสนุนมีทั้งนักวิชาการบางกลุ่ม สส.ซีกรัฐบาลและสว.บางคน รวมถึงชนชั้นกลางบางกลุ่มและชาวรากหญ้า
นักวิชาการที่เห็นด้วยแนะนำว่า รัฐบาลต้องทำแบบไม่หว่านแห ควรกำหนดคุณสมบัติผู้ที่ได้รับ รวมถึง หามาตรการป้องกันไม่ให้นำไปขายให้ร้านค้าแบบลดต้นเพื่อรับเงินสด
ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทวีตข้อความตัดพ้อผ่านทวิตเตอร์ ว่า”Digital Wallet คนอายุ 16 ปี ขึ้นไปได้ 10,000 บาท/คน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ 9 ปีที่แล้วรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เงินหลายแสนล้าน สร้างหนี้ให้ประเทศ แต่ไม่มีนักวิชาการและคนแบงก์ชาติ ออกมาติติง
“เราจะให้โอกาสคนไทยทุกระดับนำเงินไปเพิ่มกำลังซื้อ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อกู้วิกฤต ทำไมยากจัง”
ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการะทรวงการคลัง เจ้าภาพในการผลักดันนโยบายบอกว่าพร้อมรับฟังความเห็นทุกฝ่ายเพื่อนำไปเป็นแนวทางบริหารจัดการให้นโยบายนี้ตอบโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจของชาวบ้านและประเทศให้ดีและรอบด้านที่สุด
โดยนายจุลพันธ์ มั่นว่าประเด็นที่หลายฝ่ายห่วงว่าผู้ที่ได้รับแจกเงินจะนำเงินไปขายลดต้นกับพ่อค้านั้นรัฐบาลนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ สามารถตรวจสอบได้ว่าเงินดิจิตอล 10,000 บาท ไหลไปที่ไหนบ้างรวมทั้งตั้งตำรวจไซเบอร์เป็นคณะทำงานด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว
เป็นบทวิวาทะระหว่างซีกรัฐบาลในฐานะเจ้าของนโยบายกับนักเศรษฐศาสตร์ และอดีตผู้บริหารแบงก์ชาติ อยู่ระดับชนชั้นนำมีรายได้เดือนละหลายแสนบาท มองเศรษฐกิจประเทศผ่านตัวเลขมากกว่าที่จะลงไปสัมผัสความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่เดินจ่ายตลาดสดซื้ออาหารแบบมื้อต่อมื้อ หรือเกษตรกรตามภูมิภาค
ยิ่งได้อ่านแถลงการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในหัวข้อที่ 1 ระบุเศรษฐกิจอยู่ในภาวะฟื้นตัว ไม่ทราบว่าวัดจากอะไร แต่ชาวบ้านธรรมดาอย่างพวกเรา รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าที่ค้าขายกับคนระดับกลางลงล่างไม่ได้รับความรู้สึกนั้นเลย
เพราะทุกวันนี้มนุษย์เงินเดือนขายแรงงานอยู่ในเมืองตลาดสดคือแหล่งจับจ่าย เพราะซื้ออาหารได้ตามกำลังเงินในแต่ละวัน หากจะซื้อประเภทเครื่องใช้ประจำประเภท สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอง จะซื้อเท่าที่จำเป็นประหยัดให้เพียงพอในแต่ละเดือน
พ่อค้าแม่ค้า ต่างโอดครวญกันทั่วหน้าว่าขายของยาก ลูกค้าซื้อน้อยลงและซื้อเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แม้แต่ห้างสรรพสินค้าขายสินค้าอุปโภคบริโภคยอดขายตกวูบ สาเหตุมาจากสินค้าพาเหรดกันขึ้นราคาบวกกับรายได้ของชาวบ้านชักหน้าไปถึงหลัง ความเป็นอยู่เหล่านี้เกิดขึ้นทุกหัวระแหงของประเทศ
จึงไม่แปลกที่ได้เห็นบรรยากาศชาวบ้านต่างจังหวัด เมื่อเจอนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีจะถามว่าเมื่อไหร่จะแจกเงินดิจิตอล 10,000 บาท เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างวาดหวังจะใช้เงิน 10,000 บาทไปในหลายทิศทางเพื่อสร้างรายได้และเก็บออม
มนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งอยู่ต่างจังหวัดบอกว่า อยู่กับภรรยาปกติจะใช้จ่ายเงิน เฉลี่ยเดือนละ 8,000 บาท รวมค่าเช่าห้อง หากได้เงินมา 20,000 บาท จะใช้ได้สองเดือนครึ่ง เท่ากับมีเงินออม 20,000 บาท เงินจำนวนนี้สำหรับพวกนักเศรษฐศาสตร์และชนชั้นนำอาจจะมองแค่จิ๊บจ๊อย แต่มากสำหรับคนรากหญ้า
ขณะที่เกษตรกรคนหนึ่งบอกว่า สภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างแย่ ราคาพืชผลตกต่ำมาโดยตลอด หารายได้ประทังชีวิตแบบวันต่อวัน ที่บ้านมีสมาชิก 5 คน ถ้าได้รับเงิน 50,000บาท จะนำไปลงทุนเลี้ยงสัตว์ที่ใช้เวลาเลี้ยง ระยะ 3-6 เดือน อาทิ เลี้ยงปลา ไก่ หรือหมู เพราะพื้นที่มีอยู่แล้ว ขาดแต่เพียงเงินทุน ถ้ารัฐบาลแจกจริงสามารถเพิ่มรายได้อย่างแน่นอน
บริบทเหล่านี้ถ้าใช้ภาษาแบบดูดีมาราคา คงจะบอกว่า เป็นเศรษฐศาสตร์ประสาชาวบ้าน ไม่มีทฤษฎีนักเศรษฐศาสตร์ใดๆมาอ้างอิง นอกจากความเป็นจริงในชีวิตที่เผชิญอยู่มาอธิบายเท่านั้น ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เชียร์เพราะเชื่อมั่นว่ารัฐบาลเพื่อไทยเอาอยู่ การแจกเงิน 10,000 บาท เป็นเพียงแค่จุดระเบิดเศรษฐกิจให้เฟื่องฟู เพราะรัฐบาลเตรียมมาตรการอื่นรองรับอยู่แล้ว
เมื่อมองในความเป็นจริงประเด็นที่อดีตผู้บริหารแบงก์ชาติและนักเศรษฐศาสตร์ติติงเป็นเรื่องดีเพื่อให้รัฐบาลได้ทำงานอย่างรอบคอบ แต่ที่จี้ให้ยกเลิกทำไมความรู้สึกช้าจัง ทั้งที่นโยบายนี้พรรคเพื่อไทย ตีปี๊บตั้งแต่ช่วงยุบสภาใหม่ๆ
ดังนั้นที่ถูกฝ่ายรัฐบาลสวนกลับว่ามีอคติต่อพรรคเพื่อไทยคงไม่ใช่เรื่องแปลก !!!