กมธ.อว.จับตาโครงการ“ซินโครตรอน” งบฯกว่าหมื่นล้าน เรียกผอ.แจงข้อมูล9พ.ย.นี้

17814

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กมธ.วิทย์) สภาผู้แทนราษฎร ทำหนังสือไปยังนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ( อว. ) และ รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงชินโครตรอน ( องค์การมหาชน ) เข้าชี้แจงกรณี อว.จะเสนอโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่งบประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่ ระดับพลังงาน 3 พันล้านอิเล็กตรอนโวลต์ หรือ GeV ( Gigaelectron Volt) ซึ่งจะเป็นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน เครื่องที่ 2 ของประเทศไทย มีแผนตั้งอยู่ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดระยอง วัตถุประสงค์เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางวิจัยด้านเทคโนโลยีซินโครตรอนชั้นแนวหน้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในอนาคต ปัจจุบันสถานะโครงการอยู่ในระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณ และคาดว่าจะเปิดให้บริการแสงซินโครตรอนให้แก่ภาครัฐและเอกชนได้ภายในปี พ.ศ.2577

นายฐากร กล่าวว่า เพื่อให้โครงการดังกล่าวได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ ทางคณะกรรมาธิการ ฯจึงทำหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ขอให้ผู้อำนวยการสถาบันฯ เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการ เพื่อชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือแสดงความ คิดเห็นที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงชินโครตรอนฯ ในวันพฤหัสบดี ที่ 9 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.30 น.

“โครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนฯ ผมเห็นว่าหากมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบนิเวศทางวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ จะมีผลต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และคุ้มค่างบประมาณ” นายฐากร กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ ทางอว. ได้ระบุถึงประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับจากการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องที่ 2 เช่น นวัตกรรมการเกษตร อาหารและสมุนไพร สิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ชีวการแพทย์ เวชสำอางและสุขภาพ มรดกทางวัฒนธรรมและโบราณคดี เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ วัสดุสำหรับการบินและอวกาศจะช่วยให้นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ของประเทศสามารถวิจัยได้เชิงลึกและหลากหลายมากยิ่งขึ้น และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมใหม่กว่า 57,000 ล้านบาท.

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์