ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตโฆษกประจำตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลยที่ 1-2 ตามลำดับ ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ผู้อื่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 , 328 จากกรณีเมื่อระหว่าง วันที่ 17 -19 พฤษภาคม 2549 ต่อเนื่องกัน ในกรณีที่จำเลยทั้งสองร่วมกันแถลงข่าวใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ทำนองว่า โจทก์บริหารประเทศแบบซีอีโอ และเปรียบเทียบโจทก์เหมือนเป็นผีปอบที่เข้าร่างไม่ได้ และถ้อยคำอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นเท็จ ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ได้รับความเสียหาย คดีนี้ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้อง
โดยศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วมีคำพิพากษายืนยกฟ้องตามศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือ โดยรอบคอบแล้ว เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และติชมด้วยความบริสุทธิ์ใจ ที่ศาลล่างทั้งสอง พิพากษายกฟ้องมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
นายเทพไท ระบุว่า ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนให้ยกฟ้องตามศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้น โดยให้เหตุผลว่าเป็นการแสดงความเห็นทางการเมือง เป็นการติชมโดยสุจริต เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ซึ่งคดีนี้เป็นคดีที่นายทักษิณ ได้ฟ้องตนและพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ปี 2549 จากการที่นายทักษิณหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้มีการเลือกตั้ง หลังจากนั้นการเลือกตั้งก็ได้เลื่อนออกไป ซึ่งนายทักษิณก็กลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ต่อ ตนจึงให้ความเห็นทางการเมืองว่านายทักษิณมีพฤติการณ์เหมือนผีปอบ ที่ออกไปแล้วก็กลับเข้ามาอีก นายทักษิณก็เลยฟ้องหมิ่นประมาท ซึ่งได้ต่อสู้คดีกันมานาน 12 ปี ซึ่งก็ได้รับความเป็นธรรมจากศาล โดยคดีนี้เกิดขึ้นยาวนาน ทำให้ข้อมูล ความจำของคนที่อยู่ในเหตุการณ์เลอะเลือนไปบ้าง แต่ก็มีประเด็นที่หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า นายทักษิณ หนีคดีไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ทำไมถึงมาเป็นโจทย์ยื่นฟ้องในชั้นศาลได้ ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นความเห็นทางการเมือง