เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวไทยแทบลอยด์ รายงานว่า ธรุกิจ“กาแฟ”เครื่องดื่มที่ครองใจคนทั่วโลก ไม่ว่าจะอยู่ในซอกซอยไหน ธุรกิจร้านกาแฟมีให้เห็นกันอย่างดาษดื่น โดยเฉพาะกาแฟโรบัสต้าที่มีถิ่นกำเนิดในภาคใต้ของไทย ให้รสชาติเข้มข้นถูกใจคอกาแฟสายฮาร์ดคอ ซึ่งในจังหวัดกระบี่มีกาแฟโรบัสต้าที่พิเศษไปกว่านั้น เพราะมีแหล่งผลิตกาแฟขี้ชะมด กาแฟระดับพรีเมี่ยมที่คอกาแฟถวิลหา สร้างเศรษฐกิจชีวภาพให้คนในพื้นที่
ตามนโยบายสำนักงานเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ หรือ เบโด้ (BEDO) สังกัดกระทรวงทรัพย์ยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ที่มีภาระกิจสนับสนุนส่งเสริมให้ชุมชนนำทรัพยากรชีวภาพที่มีอยู่ในท้องถื่นมาพัฒนาให้เกิดคุณค่าและประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์เพื่อให้ทรัพยากรชีวภาพคงอยู่และสามารถใช้ประโยชน์ได้ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน
นายพิศิษฏ์ เป็ดทอง ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บ้านดินแดง ต.ดินแดง อ.ลําทับ ผู้บุกเบิกการผลิตกาแฟขี้ชะมดจนเป็นที่รู้จัก ในชื่อแบรนด์ Chamone เป็นหนึ่งในผู้ได้รับการสนับสนุนจาก เบโด้ (BEDO) เปิดเผยว่า กาแฟโรบัสต้าเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยม คิดเป็น 20% รองลงมาจากสายพันธุ์อราบิก้า พื้นที่เหมาะกับ การปลูกกาแฟสายพันธุ์นี้ต้องเป็นพื้นที่ที่มีอากาศชุ่มชื้น เช่น ชุมพร ระนอง กระบี่ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช สําหรับ กระบี่มีพื้นที่ปลูกอยู่ใน 3 อําเภอ คือลําทับ คลองท่อม และปลายพระยา เฉพาะในชุมชนลําทับมีประมาณ 100 ไร่ ปลูกไร่ละ 200 ต้น ส่วนใหญ่ปลูกเป็นสวนผสม ปลูกแซมด้วย กล้วย ลองกอง มังคุด ทุเรียน ส่วนหนึ่งเพื่อเก็บกินมีเหลือก็ขายสร้างรายได้ ให้กับครัวเรือน
นายพิศิษฎ์ เล่าให้ฟังว่า ที่สวนปลูกด้วยวิธีเพาะเมล็ด นับจากวันที่เริ่มปลูกสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่ปีที่ 3 แต่จะเต็มที่ในปีที่ 4 เป็นต้นไป ในรอบปีกาแฟจะออกดอกติดลูกในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ และสามารถเก็บเกี่ยวได้ในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม สําหรับ คอกาแฟที่ชอบรสชาติเข้มข้นถึงใจ โรบัสต้า จึงเป็นคําตอบที่ใช่สําหรับคุณ แต่ถ้าชอบความหอมละมุน นุ่มลิ้น คุณคง ต้องลองสัมผัสกับ กาแฟขี้ชะมด กาแฟทางเลือกที่คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ เพราะชะมดจะเลือกกินเฉพาะเมล็ดกาแฟสุกงอมสีแดงผลสมบูรณ์มีกลิ่นหอม รสชาติดี เท่านั้น เป็นสัตว์ช่างเลือกถ้ากลิ่นและรสชาติไม่ถูกใจจะไม่กินเลย เหมือนกับว่าเขาคัดเลือก กาแฟรสชาติดีมาให้เราแล้ว
กาแฟขี้ชะมด มีที่มาจากประเทศอินโดนีเซียมาจากคําว่า โกปี้ลูวะ โกปี้ หมายถึงกาแฟ ลูวะคือชะมด สําหรับประเทศไทยบ้านเราในตระกูลชะมดและอีเห็นมีทั้งสิ้น 11 ชนิด แบ่งเป็นชะมด 5 ชนิด และอีเห็น 6 ชนิด ซึ่งอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองและสัตว์ป่าสงวน สามารถขออนุญาตเพาะพันธุ์ได้ ใน11 ชนิดที่มีทางศูนย์ฯเลือกเลี้ยงอีเห็นข้างลาย ด้วยความพิเศษคือกลิ่นตัวที่มีความหอมเหมือน เตยหอม ไม่เหม็นสาบเหมือนที่หลายๆคนคิดโดยเลี้ยงทั้งหมด 42 ตัว
วิสาหกิจฯ แห่งนี้คือศูนย์เรียนรู้สําหรับผู้ที่สนใจการผลิตกาแฟ ขี้ชะมด ให้เข้ามาศึกษาดูงานก่อนตัดสินใจทําธุรกิจนี้เพราะการเลี้ยง ชะมดมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ที่ต้องจ่ายเป็นค่าอาหารตลอดทั้งปี ในหนึ่ง ปีชะมดจะได้กินเมล็ดกาแฟสุกคาต้นเพียงช่วงเดียวเท่านั้น ในรอบปีที่ ผ่านมาวิสาหกิจฯ สามารถเก็บเกี่ยวกาแฟขี้ชะมดได้เพียง 8 วันเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทําไมราคาของกาแฟขี้ชะมดจึงสูงถึงกิโลกรัมละ 20,000 บาท ชงขายต่อช็อตอยู่ที่ 300 บาท ในขณะที่กาแฟโรบัสต้า กิโลกรัมละ 600 บาท ซึ่งในปีที่ผ่านมาที่สวนขายกาแฟขี้ได้ประมาณ 50 กิโลกรัม นับว่าเป็นรายได้ที่น่าลงทุนที่เดียว
กาแฟขี้ชะมดให้รสชาติที่นุ่มนวล แตกต่างจากการดื่มกาแฟโรบัสต้า อย่างสิ้นเชิง จากการวิจัยพบว่า ในกระบวนการหมักเมล็ดกาแฟในท้องของ ชะมด เมล็ดกาแฟจะมีร่อง น้ำย่อยและเอนไซม์สามารถเปลี่ยนโครงสร้าง แป้ง น้ำตาล ทำให้รสชาติกาแฟเปลี่ยนไป ตัวคาเฟอีนจะถูกย่อยให้มี โมเลกุลที่เล็กลง ทําให้ร่างกายมนุษย์ดูดไปใช้ได้เยอะขึ้น โรบัสต้า 1 แก้ว กับขี้ชะมด 1 แก้ว ให้ความสดชื่นที่ต่างกัน กาแฟขี้ชะมดให้ความ สดชื่นที่มากกว่าเพราะเราได้รับคาเฟอีนที่เยอะกว่านั่นเอง สําหรับผู้ที่สนใจอยากจะลิ้มลองกาแฟขี้ชะมด ติดต่อได้ที่วิสาหกิจ ชุมชนศูนย์เรียนรู้ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบ้านดินแดง โทร.086-2680192 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Facebook Page : กาแฟขี้ชะมดล้ำทับ กระบี่
ลักษณะศักดิ์ โรหิตาจล : ข่าว/ภาพ