วช. – มธ. นำนวัตกรรม Smart Farmer ฟื้นฟูสวนทุเรียนปราจีนบุรี
ทุเรียน นับเป็นราชาผลไม้ไทย ที่เป็นพืชเศรษฐกิจมีมูลค่าส่งออกกว่าแสนล้าน ทำให้เกษตรกรไทยหันมาเพาะปลูกทุเรียนกันในหลายพื้นที่ แต่การปลูกทุเรียนประสบปัญหาเรื่องการผลิต การดูแลรักษา การให้น้ำปุ๋ย การบังคับให้เกิดดอกและผลิตผล และเมื่อติดผลแล้วทำอย่างไรให้ผลผลิตมีคุณภาพสำหรับตลาดส่งออกทั้งในและต่างประเทศ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับโครงการพัฒนาเกษตรไทยสู่ Smart Farmer (กรณีศึกษาการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเพื่อการส่งออก)” ของ รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เป็นผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย เพื่อคิดค้นนวัตกรรมการให้น้ำทุเรียนแบบ Basin Fertigation และนวัตกรรมการสร้างระบบนิเวศชักนำรากลอย รวมถึงการนำเทคโนโลยีลงไปถ่ายทอดสู่เกษตรกรหลายพื้นที่ในประเทศไทย ด้วย
รศ.ดร.วรภัทร เปิดเผยว่า ได้นำนวัตกรรมการให้น้ำทุเรียนแบบ Basin Fertigation และนวัตกรรมการสร้างระบบนิเวศชักนำรากลอย มาถ่ายทอดให้เกษตรกรในสวนเกษตรไฮเปอร์ ต.ไม้เค็ด อ.เมืองฯ จ.ปราจีนบุรี เนื่องจาก 2 ปีที่แล้ว ต้นทุเรียนของสวนเกษตรไฮเปอร์ ประสบปัญหาใบโทรม ใบเล็ก ยอดทุเรียนแห้งเป็นก้านธูป บางแปลงมีโรครากเน่า โคนเน่า จึงนำนวัตกรรมดังกล่าวมาปรับใช้จนประสบความสำเร็จ ต้นทุเรียนฟื้นกลับมามีสุขภาพแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคและแมลงได้ด้วยตัวเอง ไม่กลับมาเป็นโรคซ้ำ กิ่งแต่ละกิ่งสามารถแตกยอดได้ 3 ครั้งในหนึ่งปี เมื่อถึงเวลาออกดอกไม่ต้องกักน้ำและราดสารควบคุมการเจริญเติบโต ดอกสามารถออกมาเองเมื่อกระทบหนาวตามธรรมชาติและความสมบูรณ์ของต้น จากระบบนิเวศของรากที่พึ่งพา กับจุลินทรีย์ช่วยตรึงธาตุอาหาร เป็นผลให้สามารถลดการใช้ปุ๋ยและสารเคมีจากเดิมเหลือแค่ไม่เกินราคาฟางแห้งก้อเดียว
ทั้งนี้ คณะวิจัยได้ปรับเปลี่ยนระบบการให้น้ำกับต้นทุเรียน จากเดิมที่ให้น้ำตอนกลางคืนมาเป็นแบบ Basin Fertigation
โดยแบ่งการให้น้ำออกเป็นสามช่วงในแต่ละวัน ช่วงเช้าก่อน 8.00 น. ให้น้ำเต็มความสามารถอุ้มน้ำของดิน พืชสามารถดึงน้ำและธาตุหลัก/ธาตุรองเพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสงได้ โดยไม่ขาดธาตุที่จำเป็น ช่วงที่สองเวลา 11.00-12.00 น. เป็นเวลาที่ทุเรียนและไม้ผลทั่วไปที่ปลูกในแปลงแบบไม่ยกร่องสวน มักหยุดการสังเคราะห์แสงและเป็นช่วงที่น้ำในระบบน้ำใต้ดินและระบบน้ำในแถบลุ่มน้ำจะมีน้ำขึ้นน้ำลงสูงสุดในช่วงวัน จึงจัดการให้น้ำช่วงนี้ตามน้ำขึ้นน้ำตามอิทธิพลของดวงจันทร์ เป็นช่วงที่ทำให้ทุเรียนสร้างกลิ่นหอมดอกไม้เฉพาะตัวออกมา ช่วงที่สามเวลา 13.00 และ 14.00 น.ช่วงนี้ทุเรียนในพื้นที่ปลูกแบบไม่ยกรองสวนจะปิดปากใบไปจนแสงสุดท้ายประมาณ 16.00 น. ซึ่งภาพรวมทำให้ทุเรียนสามารถสังเคราะห์แสงได้นาน 6-8 ชั่วโมง และพบว่าทุเรียนหมอนทองที่อายุ 90 วันหลังผสมเกสรแล้ว (หางแย้) มีน้ำหนักแห้งของเนื้อ (DM) ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 34.98 และเมื่ออายุ 115 วันมีค่า DM เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 39.94 เนื้อทุเรียนหมอนทองและพันธุ์อื่นๆ เนื้อแห้ง ไม่เป็นไส้ซึม เต่าเผา เนื้อที่เหนียวเนียนละเอียดเป็นครีมคล้ายชีทเค้ก เนื้อมีกลิ่นหอมดอกไม้เฉพาะตัว เส้นใยละลายน้ำได้ทั้งหมด ไม่มีเส้นใยติดฟันเวลาบริโภค เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอย่างมาก ถึงกับต้องจองข้ามปี
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.วช. มอบหมายให้ นายชาญณรงค์ มณีรัตน์ ผอ.กลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ วช. นำคณะสื่อมวลชน เยี่ยมชมโครงการ“การพัฒนาเกษตรกรไทยสู่ Smart Farmer (กรณีศึกษาการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเพื่อการส่งออก)”ซึ่งได้ประสบความสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ณ สวนเกษตรไฮเปอร์ เพื่อให้ได้ทราบถึงผลสำเร็จของงานวิจัยดังกล่าว และได้พบปะกับนักวิจัย เพื่อเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานวิจัยไปสู่สาธารณชนและผู้ใช้ประโยชน์ต่อไป การลงพื้นที่ในครั้งนี้ มีเกษตรกร เจ้าของสวนทุเรียนจากทั่วทุกภูมิภาค เข้าเยี่ยมชมพร้อมศึกษาระบบการจัดการน้ำภายในสวนเกษตรไฮเปอร์ เป็นจำนวนมาก
ลักษณะศักดิ์ โรหิตาจล
ข่าว/ภาพ