ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานวันครบรอบ 20 ปี วันสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง “กลไกปราบโกงเลือกตั้งใช้กับใคร ใช้ได้จริงหรือ” โดยมีนักการเมือง และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องร่วมอภิปราย โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวในตนอนหนึ่งโดยระบุว่า หลายคนคงได้สัมผัสกับปัญหาด้วยตนเอง หากไปเดินตลาดคงรู้ว่าชาวบ้านตั้งความหวังกับการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าจะสามารถทำให้หลุดพ้นจากปัญหาและอุปสรรค โดยเฉพาะปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ดังนั้น ตนคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นทางออกได้ ก็ฝากความหวังไว้ที่ กกต. ทั้งนี้ การเลือกตั้งครั้งนี้ กกต. ทุกระดับ ตั้งแต่ผู้บริหารถึงผู้ปฎิบัติงาน จะต้องเจอศึกหนัก เพราะทุกฝ่ายคาดหวังว่า การเลือกตั้ง จะต้องสุจริตเที่ยงธรรม และต้องยอมรับว่า มีปัจจัยบางอย่างที่ กตต. ควบคุมด้วยตัวเองไม่ได้ โดยเฉพาะการใช้อำนาจรัฐของผู้มีอำนาจ โดยส่วนตัวมองว่ามี 5 ปัจจัย คือ
1. กลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนกับพรรค ที่ผ่านมากฎหมายไม่ได้ออกแบบให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะใช้อำนาจพิเศษรีเซ็ทสมาชิกพรรคการเมือง, ห้ามพรรคทำกิจกรรมทางการเมือง การลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาประชาชนก่อนกำหนดนโยบาย ดังนั้นตนมองว่าเงื่อนไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคดังกล่าวคือการตัดโอกาสประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรคอย่างแท้จริง จะปราบโกงได้ต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองลงไปดำเนินการแข่งขันกันด้วยนโยบาย จะได้ไม่เกิดการซื้อสิทธิขายเสียง แต่กลับไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองต่างๆ ทำแบบนั้น เมื่อพรรคการเมืองทำอะไรไม่ได้ ไม่ใช่ปัญหาของพรรคการเมืองแต่เป็นการตัดโอกาสของประชาชนที่จะใช้พรรคการเมืองแก้ปัญหาของพวกเรา จากนี้ต้องมาดูกันว่า ยังจะมีการใช้ระบบไพรมารี่โหวตอยู่หรือไม่ เพราะเห็นข่าวว่าจะมีการยกเลิก
2.ตัวพรรคการเมือง และนักการเมืองต้องปรับตัว ต้องพัฒนาตัวเอง ออกจากวังวนที่เขาตราหน้าว่าซื้อสิทธิขายเสียง
3.กฎหมายและกติกาต่างๆ ที่ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยเฉพาะมาตรการกำจัดคนโกงเลือกตั้ง มีหลายกติกาที่พิจารณาโดยใช้ดุลพินิจ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศเรามีปัญหาความขัดแย้งจากการใช้ดุลพินิจที่ไม่เที่ยงธรรม ในการตัดสินใจ เช่น ให้กกต. สั่งเลือกตั้งใหม่ในหน่วยที่พบการทุจริตเมื่อมีหลักฐานควรเชื่อว่าการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามกฎหมายและระงับสิทธิสมัคร ส.ส. กับผู้ที่รู้เห็นการกระทำที่ทำให้เกิดทุจริตเลือกตั้ง ที่อาจเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้กกต.ต้องรับภาระ
4.การดำเนินงานของ กกต. กับปัจจัยแทรกแซงที่อาจทำให้ กกต. ต้องหนักใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ ที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นกลางของการทำหน้าที่ และ
5.การใช้อำนาจรัฐและกลไกของรัฐราชการ ที่กระทบต่อความบริสุทธิ์เที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง ตนคิดว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าเราจะเจอปัญหาการใช้อำนาจรัฐ ผ่านรัฐราชการ ซึ่งจะเป็นที่หนักใจของ กกต. เพราะผู้มีอำนาจรัฐยังสามารถใช้อำนาจพิเศษ ผ่านมาตรา 44 ที่สามารถออกคำสั่งลักษณะแทรกแซงกกต. ได้เช่น ปลดกกต.บางคน หรือ แทรกแซงการคัดเลือก กกต.ชุดใหม่ ที่อยู่ในกระบวนการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ ซึ่งอำนาจพิเศษนี้จะอยู่ทั้งก่อนการเลือกตั้ง ระหว่างการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการสร้างความหนักใจให้แก่ผู้ใช้กฎหมาย