มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จับมือวิริยะประกันภัยเดินหน้าโครงการ “รักษ์ช้างยั่งยืน เฟส 2”

519

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขยายผลโครงการ “รักษ์ช้างยั่งยืน เฟส 2” จากโครงการแรกมุ่งวิจัยการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตอาหารช้าง และต่อยอดยกระดับมุ่งแก้ปัญหาช้างโดยตรง ด้วยโครงการ “บริการสุขภาพและสวัสดิภาพของช้างเลี้ยงในพื้นที่ภาคเหนือ” ด้านพันธมิตรทางธุรกิจ “วิริยะประกันภัย” ยืนยันพร้อมสนับสนุนเต็มที่ ระดมเครือข่ายวิริยะจิตอาสาในภาคเหนือ ทั้งพนักงาน ตัวแทนนายหน้า ศูนย์ซ่อมมาตรฐานฯ ดีลเลอร์ผู้แทนรถยนต์ในพื้นที่ เข้ามาเป็นแนวร่วมในการทำงาน เบื้องต้นได้ระดมทุนทรัพย์กว่า 2 แสนบาท สนับสนุนการทำงานให้กับ “หมอช้าง” ทีมงานศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.กรกฎ งานวงศ์พาณิชย์ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดเผยว่าในพันธกิจของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากจะทำหน้าที่หลักในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาและวิชาชีพชั้นสูง โดยมุ่งเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ บัณฑิตมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล และรอบรู้คู่คุณธรรม ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ยังจะมุ่งเน้นให้บริการวิชาการแก่สังคม มีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งในปัจจุบันคณะสัตวแพทยศาสตร์ได้ดำเนินกิจกรรมในหลากหลายโครงการ ทั้งเป็นการสร้างองค์ความรู้ให้กับชุมชน และเข้าไปร่วมมือกับภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคมในการสร้างความยั่งยืนในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนได้รับการขนานนามว่า “มหาวิทยาลัยที่เป็นมิตรกับสัตว์” ซึ่งได้รับมาจากความสำเร็จในโครงการ (ห)มา ซีเอ็มยู (MaCMU Project) ที่สามารถเปลี่ยนสุนัขจรจัดในมหาวิทยาลัยให้เป็น “สุนัขชุมชน” จนได้ใจคนรักสุนัขและคนรักสัตว์ทั่วประเทศ

สำหรับโครงการวิจัยการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตพืชอาหารเลี้ยงช้าง นับเป็นอีกโครงการหนึ่งที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ได้เปิดความร่วมมือกับ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในการเข้าไปดูแลแก้ไขปัญหาอาหารช้างในช่วงวิกฤตโควิด โดยในระยะแรกนั้นทางวิริยะประกันภัยได้เสนอขอความร่วมมือในการจัดทำโครงการ “การปลูกพืชอาหารช้างที่มีคุณภาพเพื่อความยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่” ซึ่งสอดคล้องกับโครงการวิจัยฯดังกล่าว จึงได้เปิดความร่วมมือทำงานด้วยกันเพื่อให้บรรลุความหมาย “รักษ์ช้างยั่งยืน” ซึ่งในโครงการนี้ผลการดำเนินงานประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการทำให้เกษตรกรผู้ปลูกหญ้าเลี้ยงช้างมีความยั่งยืนในอาชีพ และมีเครือข่ายที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาต่อยอดไปในหลายๆพื้นที่ของภาคเหนือ