กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 37.25-38.00 เงินเฟ้อสหรัฐฯ ชี้ชะตา

149

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 37.25-38.00 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 37.41 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายกรอบกว้างระหว่าง 37.13-38.14 บาท/ดอลลาร์ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ หลังรายงานการจ้างงานเดือนก.ย.ของสหรัฐฯบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานยังคงตึงตัว ส่งผลให้นักลงทุนขายหุ้น พันธบัตรและทองคำในช่วงท้ายสัปดาห์ ข้อมูลดังกล่าวสนับสนุนความเห็นเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ว่าจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 4.50-4.75% ในปี 66 ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูงจนเกินรับได้ อีกทั้งเฟดตั้งใจหักล้างการคาดการณ์ของตลาดที่ว่าเฟดใกล้ชะลอหรือหยุดขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลเสถียรภาพทางการเงินขณะตลาดผันผวนสูงขึ้น ทางด้านค่าเงินปอนด์ฟื้นตัวช่วงต้นสัปดาห์หลังรัฐบาลอังกฤษถอนแผนการยกเลิกภาษีเงินได้ขั้นสูงสุดแต่ปอนด์ย่อลงในเวลาต่อมา ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์แคนาดาได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบที่วิ่ง
ขึ้นขานรับมติ OPEC+ ในการปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 2 ปี ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นสุทธิไทย 1,202 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 3,221 ล้านบาท

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.ย.ของสหรัฐฯจะเป็นปัจจัยชี้นำสำคัญสำหรับการคาดการณ์นโยบายเฟดและทิศทางค่าเงินดอลลาร์รวมถึงสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ ขณะที่ตลาดการเงินในประเทศเปิดทำการเพียง 3 วัน นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยรายงานประชุมเฟดเมื่อวันที่ 20-21 ก.ย.และยอดค้าปลีกสหรัฐฯ โดยในช่วงต้นสัปดาห์เราคาดว่าเงินดอลลาร์อาจพักฐานในโซนแข็งค่าเพื่อรอข้อมูลเงินเฟ้อ อนึ่ง เราประเมินภาพใหญ่ภาวะตลาดการเงินตึงตัวสะท้อนความวิตกที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจเผชิญ Hard Landing ขณะที่เฟดเดินหน้าคุมเข้มนโยบายอย่างแข็งกร้าว ดังนั้น การที่เงินดอลลาร์จะพลิกกลับมาอ่อนค่าได้บ้าง เรามองว่าอย่างน้อยที่สุด Core CPI ซึ่งไม่รวมอาหารและพลังงานเดือนก.ย.จะต้องออกมาต่ำกว่าคาดที่ 6.5% y-o-y

สำหรับปัจจัยในประเทศ ดัชนี CPI เดือนก.ย. ของไทยเพิ่มขึ้น 6.41%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ขณะที่ Core CPI เพิ่มขึ้น 3.12% โดยเราคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฐานเปรียบเทียบที่สูง ซึ่งจะเอื้อให้ทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้อย่างยืดหยุ่นตามบริบทของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดี ต้องจับตาความเสี่ยงด้านขาขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกในระยะถัดไปเช่นกัน