หน้าแรกกระบวนการยุติธรรม"พล.ต.ท.สุรเชษฐ์" สั่งรวบ 11 เจ้าหน้าที่รัฐ ทุจริตกระบวนการตรวจสอบเรือ เข้า-ออก ประเทศ

“พล.ต.ท.สุรเชษฐ์” สั่งรวบ 11 เจ้าหน้าที่รัฐ ทุจริตกระบวนการตรวจสอบเรือ เข้า-ออก ประเทศ

วันที่ 16 กันยายน 2565 พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร.และ ในฐานะ รอง ผอ.ศพดส.ตร.แถลงว่า จากกรณีที่เมื่อเดือน ธ.ค.64 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการประมง ร่วมกับ ศรชล จับกุมเรือประมงปลอมแปลงสัญชาติซึ่งลักลอบเข้ามาทำการประมงโดยผิดกฎหมายหรือ IUU จำนวน 5 ลำ พร้อมดำเนินคดีเจ้าของเรือและลูกเรือรวมจำนวน 22 ราย ซึ่งร่วมกันกระทำความผิดกรณีลักลอบเข้ามาในน่านน้ำไทยโดยไม่ได้มีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบ และมีการปิดบังและเปลี่ยนแปลงชื่อเรือและสัญชาติจากมาเลเซียเป็นสัญชาติอินโดนีเซีย ตามที่ทราบแล้ว นั้น

ศาลได้มีการพิจารณาคดีเกี่ยวกับเรือประมงดังกล่าวไปแล้วจำนวน 3 ลำ โดยสั่งริบเรือประมง และปรับเงินจำนวนกว่า 20 ล้านบาท ส่วนอีก 2 ลำ ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี ในส่วนของเรือประมงที่ยึดไว้ทั้ง 5 ลำ ซึ่งเก็บรักษาไว้ ณ กรมศุลกากรจังหวัดสงขลา ได้เข้าสู่กระบวนการประมูลเรือขายทอดตลาดของกรมศุลกากร

ต่อมาหลังจากที่เรือประมงทั้ง 5 ลำ ถูกประมูลไปแล้วนั้น กลับฝ่าฝืนคำสั่งห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรของเจ้าหน้าที่ ลักลอบเดินทางออกไปยังน่านน้ำประเทศมาเลเซีย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้มีการประสานงานกับทางการมาเลเซียเพื่อให้ช่วยติดตามจับกุมเรือประมงทั้ง 5 ลำดังกล่าว ซึ่งต่อมาทางการมาเลเซียได้ติดตามจับกุมเรือประมงทั้ง 5 ลำไว้ได้ครบถ้วนแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินคดีตามกฎหมายของทางการมาเลเซีย

นอกจากนี้ เรือประมงทั้ง 5 ลำ ซึ่งกระทำผิด IUU ได้ถูกประกาศเป็นเรือประมงที่ถูกใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีกำหนดระยะเวลาห้ามใช้เรือประมงทำการประมงเป็นเวลาห้าปี ตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร.,ผอ.ศพดส.ตร. ได้สั่งการ ให้ดำเนินการขยายผลติดตามจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดดังกล่าว ซึ่งได้มีการแจ้งความร้องทุกข์เพิ่มเติมแล้วที่ สภ.สิงหนคร ภ.จว.สงขลา และได้มีการขยายผลดำเนินคดีอีก 10 คดี ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาจำนวน 13 ราย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นายประเสริฐ สงวนนามสกุล ทำหน้าที่เป็นผู้แทนเรือ (ชิปปิ้ง) ของเรือทั้ง 5 ลำ และประสานงานนำเรือเข้าและออกจากราชอาณาจักร

เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการขยายผลเพิ่มเติมจากกรณีของนายประเสริฐฯ เกี่ยวกับการลักลอบนำเรือประมงทั้ง 5 ลำ เข้าและออกจากราชอาณาจักร รวมทั้งรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับเส้นทางการเงินของนายประเสริฐฯ จึงได้ทราบเพิ่มเติมจากนายประเสริฐฯ ว่า นายประเสริฐฯ ได้มีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน เพื่อดำเนินการเสนอผลประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในการขั้นตอนการตรวจเรือเข้าและออกราชอาณาจักร เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการยื่นขอหมายจับเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว จำนวน 11 ราย ประกอบด้วย (1.) ร.ต.ต.หญิง ชนิดา ไชยเสนะ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตม., (2.) ด.ต.หญิง เรวดี สุพงษ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตม., (3.) ด.ต.หญิง คุณภัทร ชโนวรรณ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตม., (4.) ส.ต.อ.หญิง รดา หนูคง เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตม., (5.) ว่าที่ ร.ต.ท.ชาตรี อดทน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตม., (6.) ว่าที่ ร.ต.ท.ชินดนัย แก้วศรีราวงษ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตม., (7.) นายนิติ อุทุมพร เจ้าหน้าที่ตรวจท่าปฏิบัติการ กรมเจ้าท่า, (8.) นายจตุพร เคว็จดำ พนักงานตรวจท่าชำนาญการ กรมเจ้าท่า, (9.) นายอนพัทย์ กอวนิช หัวหน้าด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ, (10.) นายเจตวัฒน์ คมขาว หัวหน้าด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ, (11.) นายนนทพัขธิ์ อำม์พรพันธ์ หัวหน้าด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ

โดยทั้ง 11 ราย จะถูกดำเนินคดีในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1 แสนบาทถึง 4 แสนบาท หรือประหารชีวิต โดยในวันนี้ (16 ก.ย.65) พนักงานสอบสวน สภ.สิงหนคร ได้รับมอบตัวผู้ต้องหาตามหมายจับทั้ง 11 ราย เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ในกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ประชาชนและสื่อมวลชน รวมทั้งองค์กรจากต่างประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงสั่งการให้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจนถึงที่สุด ซึ่งจากการขยายผลในกรณีที่เรือประมง 5 ลำที่ได้ลักลอบเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าหน้าที่นั้น ก็พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน มีการเรียกรับผลประโยชน์เพื่ออำนวยความสะดวกในการกระทำความผิดของผู้ต้องหา กรณีเช่นนี้จึงต้องมีการดำเนินคดีโดยเด็ดขาดทุกราย เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีเหตุลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นอีก รวมทั้งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย เกี่ยวกับการปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมายในสายตาของนานาประเทศอีกด้วย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอความร่วมมือพี่น้องสื่อมวลชน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ได้ทราบถึงการดำเนินการและการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงผิดกฎหมาย หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าว สามารถแจ้งข้อมูลมายัง ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) โดยตรง ช่องทางสายด่วน 1599 หรือ www.humantrafficking.police.go.th หรือ ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/TICAC2016 หรือ LineOA: @HUMANTRAFFICKTH หรือ TWITTER: @safe_dek หรือช่องทางใหม่ล่าสุดคือ การสแกน QRCODE  เพื่อกรอกแบบฟอร์มในการแจ้งเหตุและเบาะแสการกระทำผิดดังกล่าวเพื่อแจ้งเบาะแสในการปราบปรามการกระทำผิดต่อไป

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img