Convenience store ปี’ 65-66 ฟื้นตัวจากโควิดที่คลี่คลาย

290

การรักษายอดขายให้สม่ำเสมอท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงเป็นโจทย์ ท้าทายสำคัญ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ยอดขายค้าปลีก Convenience store (CVS) ปี 2565 จะกลับมาฟื้นตัวราว 13-15% (YoY) จากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหนุนทั้งการกลับมาของลูกค้าหลักอย่างพนักงานออฟฟิศและนักท่องเที่ยวต่างชาติภายหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ราคาสินค้าบางรายการที่ปรับสูงขึ้น และการเปลี่ยนรูปแบบสาขาจากโชห่วยมาเป็นพันธมิตรหรือเครือข่ายของค้าปลีกรายใหญ่ อย่างไรก็ดี ท่ามกลางกำลังซื้อที่ยังฟื้นตัว
ไม่ทั่วถึงและการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้ยอดขายค้าปลีก Convenience store
ปี 2566 อาจขยายตัวชะลอลง ภายใต้แผนการขยายสาขาที่ยังคงเพิ่มขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การรักษายอดขายสาขาเดิม (SSSG) ให้ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นับเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญ เนื่องจากตลาดมีจำนวนร้านค้าหรือสาขาที่หนาแน่นมากแล้วหากเทียบกับฐานการบริโภคโดยรวม ซึ่งร้านค้าที่ได้ทราฟฟิกจากลูกค้าประจำอย่างสม่ำเสมอ จะมีโอกาสไปต่อในยุคที่ผู้บริโภคมีทางเลือกหลากหลายและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้อย่างรวดเร็ว

แนวโน้มตลาด Convenience store (CVS) ปี’ 65-66 ฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ ธุรกิจเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น จากจำนวนผู้เล่นในตลาดจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้เล่นท้องถิ่นหรือ Local brand ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ร้านสะดวกซื้อ หรือ Convenience store (CVS) เป็นอีกหนึ่ง Segment ค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ยอดขายค้าปลีก Convenience store ในภาพรวมปี 2565 จะกลับมาฟื้นตัวราว 13-15% (YoY) จากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า และอาจจะขยายตัวในทิศทางที่ชะลอลงในปี 2566 แต่ยังเป็นการเติบโตที่สูงกว่าภาพรวมของธุรกิจค้าปลีก โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญ
มาจาก

• การทยอยกลับมาของกลุ่มผู้บริโภคที่หันมาซื้อสินค้าผ่านหน้าร้านมากขึ้นหลังโควิดคลี่คลาย รวมทั้งได้รับแรงหนุนภายใต้มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ เช่น มาตรการคนละครึ่ง ที่หนุนการใช้จ่ายผ่านร้านค้าปลีกเอสเอ็มอีโดยเฉพาะร้านค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าแบรนด์รองหรือแบรนด์ราคาประหยัดน่าจะตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากขึ้น รวมถึงพนักงานออฟฟิศหรือพนักงานประจำที่เริ่มกลับมาทำงานเป็นปกติ และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ น่าจะหนุนให้ยอดขายของ Convenience store บางสาขาในแหล่งท่องเที่ยวฟื้นตัว
• การปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในบางรายการ จากภาวะต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น และคาดว่ายังมีสินค้าอีกหลายรายการที่มีแนวโน้มจะขอปรับขึ้นราคาสินค้าในระยะข้างหน้า ซึ่งแม้อาจจะกระทบต่อปริมาณการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่จะช่วยดันมูลค่าตลาดให้ยังคงเพิ่มขึ้นในภาพรวม
• การขยายสาขาที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น จำนวนสาขาใหม่ของผู้ประกอบการค้าปลีก Convenience store รายใหญ่ (Modern trade) และการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของกลุ่มค้าปลีกท้องถิ่น (Local brand) ที่มีการขยายสาขาใหม่ภายใต้แบรนด์ของตนเอง รวมถึงการเข้ามาในรูปแบบของการเป็นเครือข่ายหรือพันธมิตรของกลุ่มโชห่วยกับผู้เล่นค้าปลีกรายใหญ่2 ซึ่งแม้ว่าจะยังมีสัดส่วนยอดขายที่ไม่สูงนักราว 10% ของยอดค้าปลีก Convenience store ทั้งหมด แต่สัดส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า จากจำนวนผู้เล่นในตลาดที่มีมากราย และค่อนข้างหนาแน่น ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคยังคงเผชิญกับสถานการณ์ค่าครองชีพที่สูง ภาวะเงินเฟ้อ และมีกำลังซื้อที่จำกัดหรือฟื้นตัวไม่เร็ว ส่งผลให้ตัวเลขการเติบโตในภาพรวมอาจจะไม่ได้สะท้อนถึงผลประกอบการของผู้ประกอบการที่ดีขึ้นทุกราย และมองว่า ธุรกิจยังคงเผชิญกับความยากลำบากในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เพียงแต่การแข่งขันของค้าปลีกภายใน Segment เดียวกัน แต่ยังรวมไปถึงการแข่งขันกับค้าปลีก Segment อื่นๆ รวมถึง E-commerce
ที่มีบทบาทมากขึ้น ขณะที่สินค้าในแต่ละ Segment อาจไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก

Convenience store ในไทย ถือว่าค่อนข้างอิ่มตัวหากเทียบกับฐานการบริโภค และถ้าเทียบกับประเทศที่มีโมเดลใกล้เคียงกันอย่างญี่ปุ่น … มองไปข้างหน้า ด้วยข้อจำกัดการเติบโตจากประเด็นโครงสร้างประชากร ท่ามกลางแผนการขยายสาขาที่ยังคงเพิ่มขึ้น จะทำให้ Convenience store ในไทยหนาแน่นขึ้นอีก นำมาซึ่งความท้าทายในการที่จะรักษายอดขายโดยเฉพาะยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ให้มีความสม่ำเสมอหรือเพิ่มขึ้น

แม้ว่าปัจจุบันจำนวนสาขา Convenience store ของไทยจะน้อยกว่าบางประเทศที่มีโมเดลค้าปลีก Convenience store ใกล้เคียงกันอย่างญี่ปุ่น โดยจำนวนสาขาในไทยยังน้อยกว่าในญี่ปุ่นถึงหนึ่งเท่าตัว แต่หากเปรียบเทียบจำนวนสาขาต่อประชากรในเขตเมือง 100,000 คน พบว่า ไทยกลับมีสัดส่วนอยู่ที่ 63 สาขา ซึ่งมีอัตราที่สูงกว่าญี่ปุ่นที่ 49 สาขา (กรณีที่ไม่รวมนักท่องเที่ยวต่างชาติ) สะท้อนให้เห็นถึงตลาด Convenience store ในไทยที่ค่อนข้างอิ่มตัวแล้ว และหากนับรวมกับกลุ่มค้าปลีกโชห่วยที่บางส่วนมีการปรับรูปแบบมาเป็น Convenience store และเน้นจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีลักษณะเหมือนหรือใกล้เคียงกันเข้าไปด้วย ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันที่รุนแรงจากความหนาแน่นหรือการถึงจุดอิ่มตัวของ Convenience store ในไทยมากยิ่งขึ้น

และมองไปข้างหน้า แผนการขยายจำนวนสาขาใหม่ของผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นรายเดิมหรือรายใหม่ที่ยังคงเพิ่มขึ้น ท่ามกลางทิศทางของเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง อีกทั้งไทยยังเผชิญกับข้อจำกัดการเติบโตของฐานการบริโภคภายในประเทศ อันเป็นผลจากรายได้ครัวเรือนที่เพิ่มน้อย การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์และแนวโน้มการลดลงของประชากรไทย ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อการเติบโตของค้าปลีก และทำให้บรรดาผู้ประกอบการอาจเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การสร้างยอดขายต่อสาขาให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการค้าปลีกแต่ละราย โดยร้านค้าที่ได้ทราฟฟิกจากลูกค้าประจำอย่างสม่ำเสมอ จะมีโอกาสไปต่อในยุคที่ผู้บริโภคมีทางเลือกหลากหลายและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้อย่างรวดเร็ว เพราะถึงแม้ว่า ในระยะสั้น ตลาดค้าปลีก Convenience store จะโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่การรักษายอดขายให้สม่ำเสมอหรือเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยอดขายจากสาขาเดิม (Same-Store Sales Growth: SSSG) ในระยะกลางถึงยาวอาจทำได้ยากและลำบากขึ้น ซึ่งแปรผันไปตามทำเลที่ตั้งของธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ รวมถึงสภาพการแข่งขันในตลาดหรือในพื้นที่โดยรอบ เป็นต้น ซึ่งท้ายที่สุด ผู้บริโภคที่มีทางเลือกที่ค่อนข้างหลากหลาย ท่ามกลางกำลังซื้อที่ยังคงจำกัด หรือมีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังจะเป็นคนตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าผ่านร้านค้าปลีกที่ตอบโจทย์ความต้องการมากที่สุด

นอกจากผู้ประกอบการจะจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดรับกับพฤติกรรมและเทรนด์ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เช่น รูปแบบการขายออนไลน์ Live ขายสินค้า การเลือกหาสินค้าใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคมาจำหน่าย เช่น สินค้าเพื่อสุขภาพ การให้บริการเสริมอื่นๆ ที่ครบวงจร เช่น จุดรับส่งพัสดุ เพื่อให้ธุรกิจแข่งขันได้แล้ว ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมหรือมีศักยภาพต่างมองหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ โดยการขยายการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน เช่น เวียดนาม ซึ่งยังมีโอกาสในการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกรวมถึงค้าปลีกกลุ่ม Convenience store ด้วย