หน้าแรกการเมือง'ปิยบุตร' ชี้ ถึงเวลาประชาชนต้องเลือก ต้องการการเมืองแบบใหม่-การเมืองแบบเก่า

‘ปิยบุตร’ ชี้ ถึงเวลาประชาชนต้องเลือก ต้องการการเมืองแบบใหม่-การเมืองแบบเก่า

ผศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ‘Piyabutr Saengkanokkul‘ กล่าวถึงรูปแบบการเมือง โดยเปรียบเทียบระหว่างการเมืองแบบใหม่และแบบเก่า โดยระบุว่า “1. การเมืองแบบใหม่ – การเมืองที่สร้างสรรค์ มุ่งเสนอนโยบายเพื่อพัฒนาประเทศ ถกเถียงอภิปรายด้วยเหตุด้วยผล มองฝ่ายตรงข้ามเป็นคู่แข่งทางการเมืองว่าฝ่ายใดจะเอาชนะใจประชาชนได้ มิใช่ ศัตรูที่ต้องทำลายล้าง

การเมืองแบบเก่า – การเมืองที่จ้องทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม สาดโคลน มุ่งโค่นล้มฝ่ายตรงข้ามโดยไม่เสนออะไรใหม่ และไม่คำนึงถึงวิธีการ ใช้ทุกวิธีในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามออกไป

2.การเมืองแบบใหม่ – การเมืองที่พรรคการเมืองต้องการคะแนนเสียงผ่านการรณรงค์ การทำงานอย่างหนัก โน้มน้าวนำเสนอให้ประชาชนเลือก ผ่านนโยบาย คุณค่าอุดมการณ์ของพรรค และคุณสมบัติของผู้สมัคร

การเมืองแบบเก่า – การเมืองที่พรรคการเมืองต้องการที่นั่งในสภา โดยการ “ดูด” ตัวนักการเมือง อดีต ส.ส. ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

3.การเมืองแบบใหม่ – การเมืองที่พรรคการเมืองไม่มีใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งเป็นเจ้าของแต่เพียงลำพัง แต่สมาชิกทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

การเมืองแบบเก่า – การเมืองที่พรรคการเมืองมีเจ้าของ อำนาจการตัดสินใจผูกขาดอยู่ที่คนไม่กี่คน

4.การเมืองแบบใหม่ – การเมืองที่พรรคการเมืองได้เงินทุนมาใช้ในการรณรงค์ผ่านการระดมทุนและรับบริจาคทั่วประเทศ หรือ crowdfunding

ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับพรรค ไม่ใช่เป็นเรื่องผู้ขอ-ผู้ให้ ประชาชนไม่ใช่ผู้ยื่นมือขอความช่วยเหลือ ขอเงินจากพรรค แต่ประชาชนคือหุ้นส่วนความเป็นเจ้าของพรรค เมื่อประชาชนเห็นว่าพรรคการเมืองใดมีแนวนโยบายที่ดี นิยมชมชอบ และน่าจะทำประโยชน์ให้เขาได้ ก็ต้องสนับสนุนพรรคนั้น ผ่านการบริจาค เข้าไปมีส่วนร่วม เสนอความคิด สนับสนุนพรรคนั้น มิใช่ นั่งเฉยๆรอเงินหรือความช่วยเหลือจากพรรค

การเมืองจะมิใช่เรื่องสงเคราะห์ แบบประชาชนผู้รับเงิน – พรรคผู้ให้เงิน หรือ ประชาชนผู้ให้คะแนน – พรรคผู้รับคะแนน อีกต่อไป

แต่การเมืองจะเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วม การเข้ามาผูกพันกันเพื่อผลักดันให้พรรคก้าวต่อไปข้างหน้า

การเมืองแบบเก่า – การเมืองที่พรรคการเมืองนำเงินทุนมาจากสมาชิกไม่กี่คน และสมาชิกเหล่านั้นก็กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในพรรค เสมือนพรรคการเมืองเป็นบริษัท ที่ต้องฟังผู้ถือหุ้นนักลงทุนรายใหญ่

ส่วนสมาชิกคนอื่นๆจะมีบทบาทใด พรรคการเมืองจะไปในทิศทางใด ก็ขึ้นกับบรรดา “ผู้ถือหุ้นใหญ่” ในพรรคนั้น เกิดการสร้าง “มุ้ง” ในพรรค โดยกระจายกันไปตามสัดส่วนเงินที่นำมาลงในพรรค หรือจ่ายให้สมาชิกพรรค

ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับพรรค อยู่บนความสัมพันธ์ “ผู้ขอ-ผู้ให้” มิใช่ร่วมกันด้วยอุดมการณ์ หรือมีส่วนในการกำหนดแนวทาง

5.การเมืองแบบใหม่ – การเมืองที่ได้คะแนนจากการทำงานในพื้นที่อย่างหนัก ผ่านเครือข่ายและคนในพื้นที่

ผู้สมัครคือผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากเครือข่ายในพื้นที่ มิใช่ ผู้มีอิทธิพลในพรรคจัดส่งมาให้จากส่วนกลาง โดยที่เครือข่ายในพื้นที่ไม่รู้จัก ไม่มีส่วนในการกำหนด

การเมืองแบบเก่า – การเมืองที่หวังคะแนนจากหัวคะแนน เงิน ประโยชน์ต่างตอบแทน อำนาจอิทธิพล

ผู้สมัคร คือ ผู้ที่มีอิทธิพลในพรรคเคาะส่งมาให้ โดยไม่ทำงานในพื้นที่กับเครือข่ายเลย

6.การเมืองแบบใหม่ – การเมืองที่พรรคการเมืองมีอุดมการณ์ คุณค่าพื้นฐานของพรรค มี identity ของพรรค สามารถจัดประเภทได้ว่าเป็นพรรคซ้าย-ขวา ตามเฉดสเปคตรัมอุดมการณ์ทางการเมือง

การเมืองแบบเก่า – การเมืองที่พรรคการเมืองไม่มีอุดมการณ์พื้นฐาน ตั้งขึ้นมาเพื่อหวัง “เสียบ” เป็นรัฐบาล สร้างอำนาจต่อรองในการเข้าร่วมรัฐบาล โดยไม่คำนึงถึงอุดมการณ์หรือนโยบาย มุ่งต่อรองจำนวนเก้าอี้ รมต แลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน พรรคการเมืองเหล่านี้ไม่อาจจัดประเภททางอุดมการณ์ได้ เพราะ อะไรก็ได้ขอให้ได้เป็นรัฐบาล

7.การเมืองแบบใหม่ – การเมืองที่พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมในระยะยาว มิใช่ตั้งมาเฉพาะกิจ ชั่วคราว พอไม่ได้เป็นรัฐบาล ไม่มีที่นั่งในสภา ก็เลิก

พรรคการเมืองแบบใหม่ตั้งมาเพื่อทำกิจกรรมหลากหลาย มิใช่มีแต่การเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องวิชาการ การทำนโยบาย การทดลองนโยบาย งานวัฒนธรรม งานเยาวชน ฯลฯ ชีวิตของพรรคผูกพันกับสังคมตลอดเวลา มิใช่มามีชีวิตเมื่อคราวเลือกตั้งเท่านั้น

การเมืองแบบเก่า – การเมืองที่พรรคการเมืองตั้งมาเพื่อหวังลงสนามเลือกตั้ง เฉพาะกิจ เฉพาะกาล สนใจดำเนินกิจกรรมแต่เรื่องเลือกตั้ง

8.การเมืองแบบใหม่ – การเมืองที่พรรคการเมืองมิใช่เป็นพรรคจังหวัด พรรคท้องถิ่น พรรคระดับประเทศ เท่านั้น แต่เป็นพรรคระดับนานาชาติ ระดับสากลด้วย

พรรคการเมืองติดต่อสื่อสารกับพรรคการเมืองอื่นจากต่างประเทศหรือองค์กรเอกชนจากต่างประเทศที่มีแนวทางใกล้กัน รณรงค์ในเรื่องสากลควบคู่กับเรื่องในประเทศ

การเมืองแบบเก่า – การเมืองที่พรรคการเมืองแสดงบทบาทอยู่แค่ระดับจังหวัด ทัองถิ่น ไม่สนใจดำเนินกิจกรรมในเรื่องสากล หรือรู้จักติดต่อกับพรรคจากประเทศอื่น

9.การเมืองแบบใหม่ – การเมืองที่พรรคการเมืองเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคทุกคนเข้ามามีบทบาท มีโอกาสไต่เต้าขึ้นมารับตำแหน่งและมีบทบาทสำคัญตามความรู้ความสามารถ

การเมืองแบบเก่า – การเมืองที่พรรคการเมืองไม่เปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนได้ไต่เต้าเข้ามามีบทบาทตามความสามารถ แต่ผูกขาดไว้กับสมาชิกไม่กี่คน

การเมืองไทยเดินทางมาถึงห้วงเวลาแห่งการชี้ขาดระหว่างการเมืองแบบใหม่กับการเมืองแบบเก่า

การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง คือ โอกาสอันสำคัญที่ประชาชนจะได้ชี้ขาดว่า ต้องการการเมืองแบบใหม่หรือแบบเก่า

เราจำเป็นต้องขีดเส้นแบ่งให้ชัดว่า อะไร คือการเมืองแบบเก่า อะไร คือการเมืองแบบใหม่

พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ ใช้วิธี “ดูด” หรือ “บีบบังคับ” อดีต สส มาเป็นแผง เป็นมุ้ง เพียงเพื่อหวังจะให้เป็นฐานในการเดินไปสู่การเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคแบบนี้ไม่มีทางที่จะทำการเมืองแบบใหม่ได้ มันเป็นได้เพียง พรรคชื่อใหม่ พรรคเกิดใหม่ ที่เป็น ”เสื้อผ้าอาภรณ์” ห่อหุ้ม “การเมืองแบบเก่า” เท่านั้น

ถึงเวลาที่ประชาชนจะเป็นผู้กำหนดชี้ชะตาว่า ต้องการการเมืองแบบใหม่ หรือการเมืองแบบเก่า

นี่คือโอกาสในการ disrupt แวดวงการเมืองเสียใหม่

ยิ่งทำการเมืองแบบเก่าเท่าไร ก็ยิ่งช่วยขีดเส้นแบ่ง “ใหม่” และ “เก่า” ออกจากกันให้ชัดขึ้นเท่านั้น

[fb_pe url=”https://www.facebook.com/piyabutr2475/posts/10155407320445848″ bottom=”30”]


 

 

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img