วันที่ 20 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวไทยแทบลอยด์ รายงานว่า นายกฤษฎา บุญราช ผู้ช่วยเลขาธิการปฏิบัติการแทนเลขาธิการสภากาชาดไทย ลงนามหนังสือ เรื่อง แนวทางการบริหารวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โมเดอร์นา สภากาชาดไทย ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 38 จังหวัด โดยมีเนื้อหา ระบุ ดังนี้
ตามที่สภากาชาดไทยจัดสรรวัคซีนโควิด “โมเดอร์นา” ให้องค์การบริการส่วนจังหวัด เพื่อนำไปฉีดให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่ม ได้แก่ (1.) คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง สตรีมีครรภ์, (2.) ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป, (3.) บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล, (4.) ผู้ที่ทำงานประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูผู้สอนหนังสือ, 5.บุคลากรที่ออกปฏิบัติงานสัมผัสประชาชนตามโครงการฉีดวัคซีนให้ประชาชนครั้งนี้ และบุคคลที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน เนื่องจากติดขัดระเบียบกฎหมายทางราชการ และได้ชี้แจงแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนเมื่อวันที่ 17 ส.ค.2564 ไปแล้วนั้น
เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางบริหารจัดการวัคซีนของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่กำหนดการจัดหาวัคซีนนำมาฉีดให้กับประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เป็นไปตามแนวทาง หรืออยู่ในการกำกับดูแลของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และการดำเนินการฉีดต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายทั้ง 5 กลุ่มเสี่้ยง เป็นลำดับแรก
สภากาชาดไทยจึงขอแจ้งแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนโมเดอร์นา ดังนี้ (1.) ขอให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือส่วนราชการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สำรวจจัดทำข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย พร้อมรายชื่อสำรองอีกร้อยละ 30 ของจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่จังหวัดได้รับการจัดสรรวัคซีน ตามแบบฟอร์ม Whitelist ของระบบ “หมอพร้อม” ส่งให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาตรวจสอบ และรับรองความถูกต้องของกลุ่มเป้าหมาย และให้ส่งบัญชีข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแล้ว ให้สภากาชาดไทย เพื่อนำไปตรวจสอบคุณสมบัติตามรายชื่อของกลุ่มเป้าหมายกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ อาจนำรายชื่อดังกล่าวแสดงทางเว็บไซต์ของสภากาชาดไทย เพื่อให้สาธารณชนตรวจสอบเพื่อความโป่งใส ก่อนนำข้อมูลดังกล่าว เข้าสู่ระบบหมอพร้อมต่อไป ทั้งนี้ ขอให้จัดส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวให้สภากาชาดไทยภายในวันที่ 30 กันยายน 2564
(2.) ในการกำหนดจำนวนประชาชนแต่ละกลุ่มเป้าหมายทั้ง 5 กลุ่ม ว่าจะจัดให้กลุ่มใดจำนวนมากน้อยเท่าใดนั้น ขอให้จังหวัดให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเสี่ยง โดยเรียงลำดับความสำคัญจากกลุ่มที่ 1 กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่ 4 และกลุ่มที่ 5 ตามลำดับ ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มที่ 1 กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่ 4 และกลุ่มที่ 5 นั้น ต้องไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน หรือห้ามนำไปฉีดเป็นวัคซีนเข็มที่ 3 (Booster) โดยเด็ดขาด เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1, (3.) เนื่องจากมีบางจังหวัดจะขอเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายในการฉีดวัคซีน อ้างว่าประชาชนตามกลุ่มเป้าทั้ง 5 กลุ่ม ได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้วนั้น จังหวัดจะต้องแสดงข้อเท็จจริง พร้อมหลักฐานชัดเจน ว่าประชาชนทั้ง 5 กลุ่มเป้าหมายได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว จึงจะขอขยายหรือเพิ่มกลุ่มเป้าหมายใหม่ได้ โดยจะต้องให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมีมติรับรองการเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวด้วย แล้วส่งไปยังสภากาชาดไทยพิจารณา โดยด่วน”