วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม 2563 เวลา 13.30 น. ณ ห้อง BB201 โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการและการส่งเสริมขับเคลื่อนการสร้างคุณค่าภูมิอารยธรรมสุวรรณภูมิ ร่วมกับ 10 หน่วยงานชั้นนำที่เกี่ยวข้องกับภูมิอารยธรรมสุวรรณภูมิ ได้แก่ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน),กรมศิลปากร,มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย,มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร,มหาวิทยาลัยบูรพา,มหาวิทยาลัยรังสิต,มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และมูลนิธิสัมมาชีพ
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวแสดงความยินดีในจุดเริ่มต้นความร่วมมือในการจรรโลงคุณค่าภูมิอารยธรรมสุวรรณภูมิ ด้วยองค์ความรู้ ข้อมูลทางวิชาการ งานวิจัย เทคโนโลยี และกิจกรรมการพัฒนาพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เพื่อส่งต่อแนวคิด แนวทาง และข้อมูลที่ทรงคุณค่าต่อการนำไปต่อยอดพัฒนาทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบายของประเทศ และร่วมพัฒนาระบบสร้างสรรค์คุณค่าภูมิอารยธรรมสุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi Cultural Creative Platform) ให้เป็นระบบศูนย์กลางข้อมูลทางวัฒนธรรมที่มีความทันสมัย ต่อเนื่อง และมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่มีความถูกต้องและเป็นที่ยอมรับของผู้เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะนำไปต่อยอดงานในมิติอื่นๆ ต่อไป
ด้าน ผศ.เชาวลิต ขาวเขียว คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ดีที่ในการเริ่มต้นของความร่วมมือในการดำเนินงานด้านวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่จะมีการนำเทคโนโลยีด้านอวกาศมาช่วยเพิ่มโอกาสการเชื่อมโยงในมิติเชิงพื้นที่ของหลักฐานอารยธรรมที่ปรากฏตามที่ต่างๆ และสามารถนำส่งคุณค่าที่ได้จากการศึกษาสุวรรณภูมิในมุมมองใหม่ของ สทอภ.ไปต่อยอดสู่การร่วมบริหารจัดการพื้นที่ โดยใช้คุณค่าบริบททางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ มาร่วมแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน หรือใช้ในการวางแผนการจัดการพื้นที่ได้ในอนาคต อีกทั้งยังสามารถเสริมสร้างโอกาสด้านความร่วมมือในมิติอื่นๆ บนฐานความรู้ความเข้าใจในคุณค่าวัฒนธรรมร่วม
ทั้งนี้ จากจุดเริ่มต้นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในครั้งนี้ สทอภ. และหน่วยงานร่วม คาดหวังให้การขับเคลื่อนคุณค่าร่วมของภูมิอารยธรรมสุวรรณภูมิขยายผลต่อยอดไปถึงความร่วมมือในระดับอาเซียน เพื่อส่งต่อคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมนี้ ไปสู่การพัฒนาพื้นที่ทางด้าน เศรษฐกิจ สังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นดินแดนสุวรรณภูมิ หรือดินแดนแห่งความรุ่งเรือง บนพื้นฐาน “วิถีร่วมของอาเซียน” ต่อไป