ทั้งนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 1,000 ตัวอย่าง สะท้อนให้เห็นถึงการรับรู้จากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในอนาคต มีการปรับพฤติกรรมในการเก็บออมและระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งตอกย้ำถึงการรับรู้ด้านการใช้จ่ายครัวเรือนที่หดตัวลงกว่าที่ประเมินไว้เดิม โดยในส่วนของภาครัฐนั้น ด้วยระดับหนี้สาธารณะระยะสั้นที่ยังไม่น่ากังวล ทำให้พอมีทรัพยากรทางคลังในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือและเยียวยาธุรกิจที่ประสบปัญหาในการฟื้นตัวหลังจากช่วงผ่อนคลายล็อกดาวน์นี้
ด้านนางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจท่องเที่ยว รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ ถือเป็น 3 อุตสาหกรรมสำคัญที่คงต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าอุตสาหกรรมอื่น แต่หากมองจากมิติของการจ้างงาน ธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งมีแรงงานในห่วงโซ่มากถึง 4 ล้านคน จะเป็นธุรกิจที่ภาครัฐจะพุ่งเป้าหมายการเยียวยาไปที่ธุรกิจและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวเป็นอันดับต้น ๆ โดยต้องยอมรับว่าธุรกิจหลักของไทยอาจใช้เวลามากกว่า 1 ปีในการฟื้นตัวให้กลับสู่ระดับก่อนเกิดเหตุการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19
สำหรับนโยบายการเงินยังเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญ โดยหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ยังสามารถทำได้ แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่ได้แย่ถึงกับมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบ