สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะหน่วยงานบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมหลัก ของประเทศ ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ให้เข้าบริหารโครงการวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ (สกว.) เดิม เพื่อให้โครงการวิจัย เดินหน้าตามแผนงานวิจัย โดยทยอยรับมอบหมายการบริหารโครงการตั้งแต่ 20 เมษายน 2563 และครบถ้วนทุกโครงการภายใน วันที่ 15 มิถุนายน 2563 นี้
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้จัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขึ้น (วช.) ได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญให้เป็นหน่วยงานหลักด้านการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พร้อมกันนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยหรือ (สกว.) เดิม ได้ปรับเปลี่ยนเป็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งไม่ได้มีบทบาทหน้าที่ในการให้ทุนและบริหารทุนวิจัย แต่ยังมีโครงการวิจัยและนวัตกรรมในภาระหน้าที่ (สกว.) เดิม ที่ได้ให้ทุนแก่นักวิจัยและหน่วยงานวิจัยที่ยังดำเนินการอยู่ ดังนั้น เพื่อให้โครงการดำเนินการต่อไปได้ คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 และครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 จึงมีมติให้ (สกสว.) มอบหมายภารกิจบริหารโครงการวิจัยที่ยังคงค้างและดำเนินการทั้งหมดให้ (วช.) ดำเนินการบริหารโครงการ โดยยึดสัญญาเดิม ประกอบด้วยโครงการที่ (วช.) ได้รับมอบหมายให้บริหารจัดการ ได้แก่
1.โครงการจากกลุ่มภารกิจ R&D,กลุ่มภารกิจพื้นฐานและการพัฒนานักวิจัย งานโครงการด้านเศรษฐกิจและสังคม และอื่นๆ
2.โครงการจากฝ่ายวิชาการ
3.โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.)
4.โครงการพัฒนาวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) และโครงการอื่นๆ ซึ่งมีจำนวนรวมมากกว่า 4,000 โครงการ โดยก่อนหน้านี้ (วช.) ได้รับแผนงานวิจัยและนวัตกรรม ปีงบประมาณ 2563 บางส่วนแล้ว และบางส่วนยังรองบประมาณที่ (สกสว.) จะถ่ายโอนงบของปี 2563 ต่อไป ดังนั้น จึงขอแจ้งให้ประชาคมวิจัยและเครือข่ายวิจัยทั่วประเทศได้รับทราบ และ (วช.) ให้ความมั่นใจว่า โครงการต่างๆ จะดำเนินการบริหารจัดการตามเป้าหมายและแผนงาน โดยไม่มีผลกระทบต่อนักวิจัยและโครงการวิจัยต่อเนื่อง ในการนี้ (สกสว.) กำลังถ่ายโอนข้อมูลโครงการ พร้อมทั้งกรอบงบประมาณมาที่ (วช.) ตามมติของ (กสว.) ซึ่ง (วช.) ได้เตรียมความพร้อมของระบบการบริหารโครงการวิจัยและทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งการวางระบบดำเนินงานโครงการต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว พร้อมดำเนินการต่อ เมื่อได้รับข้อมูลโครงการและงบประมาณ
นอกจากนี้ (วช.) ได้รับมอบหน้าที่ให้ดำเนินการตามหน้าที่ที่ระบุในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2562 ในการดูแลและพัฒนาระบบสารสนเทศการวิจัยและนวัตกรรมกลางของประเทศ โดยได้จัดทำระบบ National Research and Innovation Information System (NRIIS) (เอ็นอาร์ไอไอเอส) ขึ้น เพื่อบริหารภาพรวมของการวิจัยและนวัตกรรม โครงการวิจัย นักวิจัย แผนงานวิจัย และโครงสร้างพื้นฐานของระบบวิจัยและโครงการผ่านระบบ NRIIS เป็นระบบกลางของประเทศ ซึ่งมีการปรับโครงสร้างและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างระบบบริหารจัดการงานวิจัยแห่งชาติ (National Research Management System หรือ NRMS) ที่พัฒนาร่วมกับเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ให้เป็นระบบหลักที่มีเอกภาพ มีความปลอดภัยและสิทธิ์การเข้าถึงระบบอย่างถูกต้อง และไม่สร้างความสับสนให้แก่ผู้ใช้งาน โดยภาพรวมจากการออกแบบการใช้ข้อมูลของระบบมีหลายมิติ ทั้งมิติเนื้อหา มิติด้านการเงิน มิติด้านบุคคล และมิติด้านหน่วยงาน เช่น การสนับสนุนงบประมาณของแผนงาน/โครงการ พร้อมรายละเอียด และการจัดกลุ่มตาม
Program/Platform/Flagship/แผนงาน/Key Result ซึ่งครอบคลุมถึงแผนที่นำทางด้านนโยบาย การบริหารจัดการโครงการ การติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงาน รวมถึงการขยายผลการพัฒนาระบบข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการวิจัยที่ไม่ใช่โครงการวิจัย อาทิ การพัฒนาบุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น และการเก็บข้อมูลต่อเนื่องหลังจากการส่งรายงานการวิจัยแล้ว สามารถรายงานประเภทต่างๆ ที่สามารถแสดงข้อมูลได้ทันที โดยใช้ข้อมูลของงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเชื่อมโยงกับหน่วยงานทุกระดับทั้งระดับนโยบาย การจัดสรรงบประมาณ การให้ทุน และการปฏิบัติงานวิจัยและนวัตกรรม โดยมี (วช.) เป็นผู้ดูแลระบบ NRIIS และได้ดำเนินการแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน