นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ‘Korn Chatikavanij‘ กล่าวว่าถึงประเด็น พัฒนาการของเทคโนโลยี ในยุคดิจิทัลที่ไม่เคยหยุดนิ่ง จึงเกิดเป็นความท้าทายให้กับทุกธุรกิจดั้งเดิม โดยนายกรณ์ กล่าวว่า ขนาดทีวีช่อง 3 ยังถูก ‘disrupt’ จนแทบไม่เหลือกำไร ธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศปิดสาขากว่าครึ่ง อีกอุตสาหกรรมที่ผมเชื่อว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างคือ ‘พลังงาน’ เทคโนโลยีทำให้เรา (ประชาชน) เปลี่ยนจากการเป็นผู้บริโภค เป็นผู้ผลิต (เด็กแนวบางคนเริ่มเรียกว่าจาก consumer เป็น prosumer (pro จากคำว่า produce ที่แปลว่าผลิต)
นายกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ในอุตสาหกรรมพลังงานในต่างประเทศความเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มปรากฎชัด เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว (ไทยเราก็เริ่มมี แต่ยังติดเงื่อนไข ‘โควต้า’) ทำให้ทุกครัวเรือนที่มีหลังคาสามารถเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าได้ และเริ่มมีการประยุกต์ใช้ blockchain ในการออกแบบระบบซื้อขายพลังงานระหว่างกัน โดยในอนาคตอาจจะต้องพึ่งผู้ขายและผู้ผลิตตัวกลางน้อยลง ทั้งหมดคือสาเหตุสำคัญที่ผมเห็นด้วยกับท่านรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ที่ตัดสินใจ (ยัง) ไม่เดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินตามที่ฝ่ายราชการและกฟผ. พยายามผลักดัน เพราะนอกจากเป็นที่มาของมลพิษแล้ว ไฟฟ้าจากถ่านหินจะมีต้นทุนที่ถูกกว่าแหล่งอื่นจริง ก็ต่อเมื่อมีการผลิตเต็มกำลังต่อเนื่องอย่างน้อย 30 ปี ซึ่งการผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหินเต็มกำลังเป็นระยะเวลายาวนานขนาดนั้นคือสมมติฐานว่า เทคโนโลยีจะไม่พัฒนาอีกเลย ใครเชื่ออย่างนั้นบ้าง?
นายกรณ์ กล่าวด้วยว่า ต่อคำถามว่า แล้ว 5-10 ปีข้างหน้านี้ (ที่อาจจะยังต้องพึ่งพาแหล่งผลิตขนาดใหญ่) หากไม่มีถ่านหินเราจะพึ่งแหล่งไฟฟ้าอะไร ผมและทีมนโยบายประชาธิปัตย์ก็ได้เสนอแนวคิดมากว่าปีหนึ่งแล้วว่า เราควรพิจารณาการผลิตไฟฟ้าโดยอาศัยก๊าซ LNG ซึ่งในระยะสั้นอาจจะแพงกว่าถ่านหินเล็กน้อย (แต่ไม่มากหากพิจารณาข้อเท็จจริงว่าค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า LNG ถูกกว่า ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินถึงครึ่งหนึ่ง) แต่โรงก๊าซปรับกำลังการผลิตได้ยืดหยุ่นกว่าโรงถ่านเยอะ และมีผลต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่ามาก มีหลายคนที่สนใจเรื่องนี้ และสนใจรายละเอียดการคำนวณเปรียบเทียบ ผมเลยขอเสนอพอประมาณตามภาพดังต่อไปนี้ครับ