วันทึ่ 27 มี.ค.63 เวลา 08.30 น. : ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (รมว.อว.) เดินทางไปที่โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อตรวจเยี่ยมความพร้อมของโรงพยาบาลในการรับมือสถานการณ์โรคโควิด-19
ทั้งในด้านการรักษาพยาบาลและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ยืนยันโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์จะเป็นกำลังสำคัญร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการดูแลคนไทย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ซึ่งดูแลมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศมีคณะแพทยศาสตร์และโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ในสังกัดกระทรวง ฯ จำนวนกว่า 23 แห่ง ซึ่งมีความพร้อมและความเข้มแข็งทั้งในด้านกำลังคน แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยจำนวนมากเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการรองรับกับสถานการณ์ดังกล่าว
โดยวันนี้ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ได้นำ (รมว.อว.) ดูการปฏิบัติงานของคลินิกโรคอุบัติใหม่ (EID Clinic) ที่เป็นด่านหน้าในการรองรับผู้ป่วยและติดตามการปฏิบัติงานตามแผนการเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลศิริราชต่อการรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั้งด้านการบริหารจัดการเวชภัณฑ์ และการเตรียมโรงพยาบาล การจัดกำลังคน ตลอดจนการดูแลความปลอดภัยทั้งส่วนของผู้ปฏิบัติงาน แพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ และบุคคลภายนอกด้วยมาตรการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ภายนอกโดยจัดเตรียมและใช้ห้องผู้ป่วยความดันลบ (Negative Pressure Room) และมีหอผู้ป่วยโรคโควิด-19 แยกออกมาไว้สำหรับการปฏิบัติงานโดยเฉพาะ รวมทั้งเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ BSL-3 ของโรงพยาบาลซึ่งใช้สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคโควิด-19 โดยวิธีทางพันธุกรรม ขณะนี้ได้รองรับการตรวจเป็นจำนวนมากแล้ว
นอกจากนี้ กระทรวง (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยเชื้อโรคโควิด-19 เพื่อให้ห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยของประเทศไทยมีน้ำยาตรวจเพียงพอ สามารถผลิตน้ำยาตรวจมาตรฐานได้ในประเทศและมีราคาถูก และให้ทุนวิจัยและพัฒนาชุดการตรวจแบบใหม่ๆ ทั้งการตรวจหาแอนติบอดีและแอนติเจน ในส่วนน้ำยาตรวจสารพันธุกรรมของเชื้อด้วยเทคนิค RT-PCR (Real time Reverse transcription polymerase chain reaction) ที่เป็นวิธีมาตรฐานสากลนี้
(อว.) ได้สนับสนุนให้บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาชุดตรวจมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันพร้อมสำหรับการส่งมอบเป็นครั้งแรกจำนวน 20,000 ชุดภายในสัปดาห์หน้า โดยมีกำลังการผลิต 100,000 ชุดต่อเดือน และเตรียมที่จะขยายกำลังการผลิตให้เป็น 200,000 ชุดต่อเดือนในระยะต่อไปเพียงพอกับการใช้งานของประเทศ
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน