ตามที่ รัฐบาลได้มีนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ให้ความสำคัญกับการประสานความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จึงได้บูรณาการความร่วมมือกันและการทำงานระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน และเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมสำคัญ
ล่าสุด วันอังคารที่ 14 มกราคม 2563 เวลา 10.30 น. พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ พันตำรวจโท ปกรณ์ สุชีวกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าร่วมประชุมความร่วมมือในการปราบปรามองค์กรอาชญากรรมยาเสพติดข้ามชาติร่วมกับผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) โดย นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้มอบหมายให้ นายบัญชา โทสมัย ผู้อำนวยการสำนักปราบปรามยาเสพติด เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เพื่อพัฒนากลไกการทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
ในการเพิ่มประสิทธิภาพการปราบปรามองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และการบังคับใช้กฎหมายในการดำเนิน คดีพิเศษกับองค์กรอาชญากรรมยาเสพติด ให้มีมาตรฐานสากล โดยที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการบูรณาการความร่วมมือด้านการปราบปรามยาเสพติด องค์กรอาชญากรรมยาเสพติดข้ามชาติ ระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงาน ป.ป.ส. ในการตั้งคณะทำงานร่วมกันในลักษณะ TASK FORCE เพื่อปฏิบัติการทางด้านการข่าว และบูรณาการมาตรการทางกฎหมายเพื่อบังคับใช้กฎหมายกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยใช้กฎหมายการสอบสวนคดีพิเศษเป็นกฎหมายกลางในการบริหารจัดการ ตลอดจนการสืบสวนสอบสวน เพื่อนำพยานหลักฐานมาดำเนินคดีพิเศษกับองค์กรอาชญากรรมยาเสพติดข้ามชาติ
กรณีดังกล่าว สืบเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ประจำท่าอากาศยานประเทศญี่ปุ่นได้จับกุมคนไทยที่ลักลอบนำยาเสพติดไปยังประเทศญี่ปุ่นในช่วงปี พ.ศ.2560-2561 ซึ่งมีการจับกุมชาวไทยดำเนินคดีที่ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 17 คดี โดยต่อมา เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2562 คณะกรรมการคดีพิเศษได้มีมติในการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ ครั้งที่ 1/2562 ให้กรณีกลุ่มคนผิวสีประเทศแถบแอฟริกาค้ายาเสพติดข้ามชาติจากประเทศไทยส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น เมื่อห้วงเดือนเมษายน 2560–มกราคม 2561 เป็นคดีพิเศษที่ 47/2562 ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547
ซึ่งได้มอบหมายให้กองคดีความมั่นคง ขยายผลดำเนินคดีพิเศษไปยังตัวการ นายทุน และเครือข่ายผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีพนักงานอัยการคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมในการสอบสวน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งนี้ ข้อมูลเบื้องต้นทราบว่า คนไทยที่ถูกจับกุม ถูกว่าจ้าง ถูกล่อลวง จากชาวต่างชาติและชาวไทยในขบวนการ โดยให้ชาวไทยเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นในลักษณะนักท่องเที่ยว ซึ่งวิธีการดังกล่าวทำให้ชาวไทยตกเป็นเหยื่อหรือเครื่องมือของขบวนการค้ายาเสพติด และสร้างผลกระทบความเสียหายต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของประเทศไทย รวมทั้งส่งผลกระทบต่อชาวไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยว และผู้ประกอบธุรกิจที่สุจริตด้วย
นอกจากนี้ เมื่อเวลา 11.30 น. พันตำรวจโท ปกรณ์ สุชีวกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ให้การต้อนรับและมอบของที่ระลึกแก่ พันตำรวจเอก คาซุฮิโร ทาเนดะ (Kazuhiro Taneda) เจ้าหน้าที่ประสานงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น และ คุณโยซุเกะ คิมูระ (Yosuke Kimura) เจ้าหน้าที่ประสานงาน ศุลกากรญี่ปุ่น (JCLO) เพื่อขอบคุณที่ได้ให้ความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมยาเสพติดข้ามชาติในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอแจ้งเตือนประชาชนชาวไทยที่ประสงค์เดินทางไปต่างประเทศ ให้ระวังตกเป็นเหยื่อหรือเครื่องมือในการลักลอบนำยาเสพติดเข้าประเทศต่าง ๆ ของขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ ไม่ว่าจะโดยการชักชวนไปเที่ยวโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การฝากสิ่งของที่ซุกซ่อนยาเสพติดไว้ หรือการจ้างวานโดยตรง ทั้งนี้ หากประชาชนมีเบาะแสในเรื่องดังกล่าว สามารถแจ้งเบาะแสมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ โทรสายด่วน DSI Call Center 1202 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ) โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะรักษาข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ