วันที่ 11 พ.ย.62 ณ กศน.อำเภอท่ามะกา จ.กาญจนบุรี : ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานตามโครงการและนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมตรวจเยี่ยมสถานศึกษาในจังหวัดกาญจนบุรี ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่1/62 ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 (กาญจนบุรี,ราชบุรี และสุพรรณบุรี) พร้อมด้วย นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ,นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ,นายพะโยม ชิณวงศ์ หัวหน้าคณะทำงาน รมช.ศึกษาธิการ ตลอดจนคณะผู้บริหารทุกสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ
จุดแรกได้ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการตามนโยบาย ของหน่วยงานในสังกัดสำนักงาน กศน. ณ กศน.อำเภอท่ามะกา จ.กาญจนบุรี เพื่อการรับทราบปัญหาต่าง ๆ และข้อเสนอแนะจากข้าราชการ นักศึกษาและประชาชนในพื้นที่เพื่อนำเสนอในที่ประชุมครม.ซึ่งมีการนำเสนอผลการดำเนินงานและกิจกรรมการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของสถานศึกษาใน 3 จังหวัด ได้แก่ สำนักงาน กศน.จ.กาญจนบุรี สำนักงาน กศน.จ.ราชบุรี และสำนักงาน กศน.จ.สุพรรณบุรี เข้าร่วมนำเสนอในประเด็นต่างๆ ได้แก่ กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ศูนย์จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ออนไลน์ กศน. (OOCC) ห้องเรียนออนไลน์ยุคใหม่ โครงการ กศน.WOW ขับเคลื่อนสู่ กศน.ดิจิทัล 6G เป็นต้น
ดร.กนกวรรณฯ เปิดเผยหลังจากรับฟังและเยี่ยมชมผลงานของ กศน. ว่า “ในเรื่องของนโยบายที่วางไว้ก็เริ่มเดินหน้า สิ่งใดที่รับปากว่าจะช่วยปรับให้ถูกต้อง เหมาะสม เข้าที่เข้าทางแก้ไขในสิ่งที่สามารถทำได้มากที่สุด เพื่อที่จะให้ทำให้นโยบายนั้นสามารถที่จะขับเคลื่อนนโยบายให้มีประสิทธิภาพ เช่น การสร้างขวัญกำลังใจของครู กศน.ตำบลที่ขาดโอกาสไม่มีความก้าวหน้า เป็นปัญหาตั้งแต่มารับตำแหน่ง ปัญหานี้ก็กำลังถูกแก้ไข เดินหน้าที่จะให้ทำให้ครู กศน. สามารถมีคุณสมบัติที่จะสามารถเป็นครูได้ ซึ่งจะต้องให้ครู กศน.ได้รับโอกาสตรงนั้นก่อน
ในวันนี้ได้เห็นการขับเคลื่อนกิจกรรมด้านส่งเสริมการอ่านของ กศน.ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จระดับหนึ่ง ในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ในชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยสำนักงาน กศน.จังหวัดกาญจนบุรี ได้ดำเนินการตามโครงการพัฒนากาญจนบุรีสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ โดยกำหนดขับเคลื่อนภายใต้คำขวัญ “เมืองนักอ่าน คนกาญจนบุรี” ด้วยการจัดกิจกรรมตาม PDCA อย่างครบวงจร ครอบคลุมไปถึงการพัฒนาบุคลากรภาคีเครือข่าย แหล่งเรียนรู้ สื่อส่งเสริมการอ่าน และขยายผลเมืองแห่งการเรียนรู้ ที่สร้างผลลัพธ์ที่มีความชัดเจน
ส่วนสำนักงาน กศน.จังหวัดราชบุรี ได้นำเสนอห้องสมุดเคลื่อนที่ของชาวตลาด และแอปพลิเคชันห้องสมุดมือถือ กศน.จังหวัดราชบุรีที่มีความน่าสนใจ และที่สำคัญสำนักงาน กศน.จังหวัดสุพรรณบุรี ได้นำเสนอนวัตกรรมภายใต้แนวคิด “ปันการอ่าน ผ่านรถบริการอาหารสมอง” โดยใช้รถ 3 รูปแบบเป็นตัวกลางในการนำอาหารสมองบริการสู่กลุ่มเป้าหมายมานำเสนอ นับเป็นการขยายผลการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้สู่ชุมชน โดยการนำรูปแบบจากการพัฒนาและองค์ความรู้จากภูมิปัญญาในพื้นที่ สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ต้นแบบผ่านกิจกรรมของ กศน.ในรูปแบบที่หลากหลาย รวมทั้งการพัฒนาบุคลากร บรรณารักษ์ ครู กศน.ตำบล และภาคีเครือข่ายให้มีศักยภาพในการส่งเสริมการอ่าน
ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม้กศน.ได้ริเริ่มดำเนินการสร้างชุมชน เพื่อพัฒนาพื้นที่สู่เมืองแห่งการเรียนรู้ ทำให้ประชาชนมีการรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการอ่านและให้ความสนใจกับกิจกรรมที่สำนักงาน กศน.จังหวัด จัดทุกกิจกรรม แต่ยังมีกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่สามารถอ่าน เขียนภาษาไทยไม่ได้ และกลุ่มผู้ลืมหนังสือเป็นจำนวนมาก จึงขอให้ กศน.เป็นหน่วยงานหลักในการร่วมสร้างให้ประชาชนเกิดวัฒนธรรมรักการอ่านนำไปสู่ชุมชนแห่งการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริงในทุกพื้นที่ และปัญหาในการส่งเสริมการอ่านที่สำคัญอีกเรื่อง คือ เรื่องของเทคโนโลยีที่ติดลิขสิทธิ์ แล้วเป็นข้อจำกัดที่ กศน. เคยทำไม่ได้ ได้มอบนโยบายให้ทางเลขา กศน.หาวิธีการในการแก้ไขกฎระเบียบอย่างไรจะทำให้คนไทยทั้งประเทศสามารถที่จะเข้าถึงการอ่านกับ กศน.ได้ ทั้งในสื่อดิจิทัล สื่ออิเลคทรอนิคส์ สื่อสิ่งพิมพ์และ สื่อการเรียนรู้ต่างๆที่เป็นเล่ม
นอกจากนี้จะต้องวางแผนการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ให้สามารถเข้าสื่อกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพาหนะ หรืออุปกรณ์เสริมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาเชื่อมโยงสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ทุกพื้นที่ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาตามนโยบายที่วางไว้”
“งาน กศน. นับวันยิ่งจะต้องทำให้กว้างไกล เพราะกลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนทั่วประเทศ ที่ไม่เพียงประสบปัญหาด้านความไม่เสมอภาคทางการศึกษา แต่ยังเผชิญกับความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในหลายๆด้านที่สะท้อนกลับถึงชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบัน การเดินหน้าตามนโยบาย 4.0 ของรัฐบาล ให้เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ข้อจำกัดมีมากมายที่เกิดขึ้นจะค่อยๆทลายลง ซึ่งเป็นมิติที่ดีวันนี้ที่การลงพื้นที่ ครม. สัญจร ทำให้หน่วยงานทุกสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการได้มาระดมรับฟังปัญหาและความสำเร็จของพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนไปสู่การพัฒนาร่วมกัน ดังนั้นการช่วยแก้ไขปัญหาและสร้างขวัญกำลังใจครู กศน. ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้วทุกอย่างจะค่อยๆมีทางออกและจะคลี่คลายในที่สุด ตนเองคาดหวังว่าจะทำงานให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพดังที่นโยบายรัฐบาลกระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งใจไว้
ซึ่งตนมุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาครู เมื่อได้ทำไปแล้ว ก็จะทำต่อเนื่อง ขวัญกำลังใจมาอันดับ 1 คนเรามีขวัญกำลังใจดียิ่งจะมีความสุขที่จะทำงานได้ทุกอย่าง ดังนั้น ขอให้ทุกภาคส่วนของกระทรวงศึกษาธิการร่วมบูรณาการการทำงานเชิงรุกในทุกมิติ อย่างเป็นเอกภาพ ส่งเสริมการทำงานซึ่งกันและกัน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ การทำให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยมีความรู้ ความสามารถและมีสติปัญญา ขอให้ช่วยจับมือกันในทลายทุกข้อจำกัดทางการศึกษาสร้างและเสริมทักษะให้ผู้เรียนมีความรู้ มีศักยภาพ มีความรู้ มีอาชีพและมีรายได้ต่อไป สอดคล้องกับนโยบายที่รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงศึกษาธิการย้ำมาโดยตลอด คือ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” รมช.ศธ.กล่าวในที่สุด