หน้าแรกเศรษฐกิจ-การเงินศูนย์วิจัยธนาคารออมสินประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2562 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.0

ศูนย์วิจัยธนาคารออมสินประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2562 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.0

ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน คาดว่าเศรษฐกิจไทย ปี 2562 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ชะลอตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามการค้า และค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เป็นแรงกดดันสำคัญต่อภาคการส่งออก สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.3

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2562 มีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยประคองกำลังซื้อภาคครัวเรือน (2) การออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนจากต่างประเทศ (Thailand Plus Package) ส่งผลดีต่อการลงทุนภาคเอกชน (3) การท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะชะลอตัวแต่ได้รับการชดเชยจากนักท่องเที่ยวโซนเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ (4) ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักกลับมาดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินมากขึ้น (5) การมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งเป็นผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสร้างความเชื่อมั่นในการเจรจาเขตการค้าต่างๆได้ สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ได้แก่ (1) การส่งออกมีแนวโน้มหดตัวลง จากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง (2) ภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตและรายได้ครัวเรือนภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลง (3) ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นจากความไม่สงบในตะวันออกกลางส่งผลต่อต้นทุนทางธุรกิจ (4) กระบวนการตรวจรับและเบิกจ่ายที่ล่าช้าในโครงการลงทุนขนาดใหญ่อาจทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ (5) สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในภูมิภาคต่างๆทั้งในตะวันออกกลางกรณีอิหร่านและสหรัฐอเมริกา, ความขัดแย้งในแคว้นแคชเมียร์ระหว่างอินเดีย ปากีสถาน และจีน เป็นต้น ซึ่งหากการเจรจาไม่สำเร็จอาจพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้นได้

ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีแนวโน้มด้อยลงจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลลดลง จากการเกินดุลการค้าและดุลบริการที่คาดว่าจะเกินดุลน้อยลง ประกอบกับเงินบาทที่ยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าสะท้อนจากดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริงที่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่มีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้นทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการผ่อนปรนหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) สำหรับการกู้ร่วม เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้แรงกดดันจากความเสี่ยงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชัดเจนขึ้น


RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img