SCB CIO มองเศรษฐกิจโลกปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง จากความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้า ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ แนวโน้มเติบโตดี จากแรงหนุนการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมถึงการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยยังเป็นขาลง แต่อาจปรับลดได้น้อยกว่าที่ตลาดคาด จากแรงกดดันของเงินเฟ้อ แนะ Core port ลงทุนหุ้นกลุ่ม Quality Growth ที่สอดรับกระแส AI และหุ้นกลุ่ม Defensive เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบสงครามการค้า หุ้นอินเดีย อินโดนีเซีย จีน A-Share และไทย รับอานิสงส์ทางการจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งลงทุนหุ้นกู้สหรัฐฯ Investment Grade ระยะสั้น 2-4 ปี และทองคำ ส่วน Opportunity port แนะหุ้นสหรัฐขนาดเล็กและเวียดนาม
นายศรชัย สุเนต์ตา, CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวช้าลง โดยอ้างอิงจากการคาดการณ์ GDP ของ SCB EIC ล่าสุด ในเดือน พ.ย. 2567 พบว่า GDP โลกปีนี้จะขยายตัว 2.7% และขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ 2.5% ในปี 2568 จากความไม่แน่นอนด้านนโยบายกีดกันการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังจะทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2568 โดยทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจจะขยายตัวมากน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรงในการดำเนินนโยบายกีดกันการค้า และระยะเวลาที่จะเริ่มใช้นโยบายนี้ โดยมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตลดลง แต่ยังขยายตัวสูงกว่าเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วอื่น ซึ่ง SCB EIC คาดการณ์ว่า GDP สหรัฐฯ ในปี 2568 จะขยายตัว 1.9% ด้วยแรงหนุนจากนโยบายการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมถึงการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ แต่จะเผชิญความเสี่ยงจากนโยบายการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนเฉลี่ย 20% และประเทศอื่นๆ เฉลี่ยอีก 10% รวมถึงการกีดกันผู้อพยพ โดย ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะระมัดระวังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น ช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ตามแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่อาจสูงขึ้น
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักต่างๆ ในโลก ยังมีแนวโน้มปรับลดลง แต่ด้วยแรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มขึ้นจากนโยบายของทรัมป์ รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งคาดว่ายังคงยืดเยื้อต่อไป ทั้งความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ถึงแม้ว่า ทรัมป์ จะออกมาประกาศว่าจะยุติสงครามโดยเร็วก็ตาม ทำให้ธนาคารกลางต่างๆ มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
ด้านแนวโน้มตลาดเงินตลาดทุน SCB CIO คาดว่า เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (UST Yield Curve) มีแนวโน้มปรับเพิ่มความชันมากขึ้น แม้ Fed จะยังลดดอกเบี้ยต่อก็ตาม เนื่องจาก นโยบายของทรัมป์ อาจจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวลดลงในขอบเขตจำกัดมากขึ้น ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวยังทรงตัวสูงอยู่ หรือปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากการขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้น ความเสี่ยงที่เงินเฟ้อยังลดลงช้า และเรามองว่า UST Yield Curve มีแนวโน้มเข้าสู่ Normal Yield Curve ซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่ต่ำกว่าระยะยาว ในปี 2568 ดังนั้น จึงแนะนำให้เน้นลงทุนหุ้นกู้สหรัฐฯ คุณภาพสูง (Investment Grade) ระยะสั้น 2-4 ปี ที่ให้ Yield อยู่ในระดับใกล้เคียงกับหุ้นกู้ระยะยาว และ Yield เฉลี่ยอยู่สูงกว่าประมาณการอัตราดอกเบี้ยระยะยาวของ Fed ที่ 3.0% นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่ราคาจะลดลง ในกรณีที่ Bond Yield หรือ Credit Spread ปรับเพิ่มขึ้น ยังอยู่ต่ำกว่าหุ้นกู้ระยะยาว
SCB CIO มองว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากกำไรต่อหุ้น(EPS) ที่ยังขยายตัวดี ท่ามกลางปัจจัยสนับสนุนจากกระแสการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์แม้ว่าราคา ซึ่งวัดจากอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) อยู่ค่อนข้างสูง แต่ความเสี่ยงที่จะปรับลดลงมากมีจำกัด จากแนวโน้มการเพิ่มผลตอบแทนผู้ถือหุ้น และโมเมนตัม EPS ที่ยังดี จึงแนะนำสำหรับการลงทุนในระยะยาว เน้นหุ้นกลุ่ม Quality Growth ที่ EPS มีแนวโน้มขยายตัวดี และสอดรับกระแส AI ผสมผสานกับ หุ้นกลุ่ม Defensive ที่ทนทานทุกสภาวะตลาด เพื่อลดความเสี่ยงสงครามการค้า สำหรับการลงทุนในระยะสั้น แนะนำหุ้นสหรัฐฯ ขนาดเล็ก เช่น หุ้นในกลุ่ม Russell 2000 ที่มีรายได้ส่วนใหญ่จากในประเทศ ทำให้ได้อานิสงส์ค่อนข้างมากจากนโยบายกระตุ้นต่างๆ ของทรัมป์
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เรามองว่ามีความน่าสนใจมากขึ้น จากแนวโน้มการปฏิรูปธรรมาภิบาล และมีแรงซื้อจากนักลงทุน ทั้งจากกรายย่อย ผ่านโครงการลงทุนที่ได้ประโยชน์ทางภาษี และจากกองทุนบำเหน็จบำนาญของรัฐบาลญี่ปุ่น (GPIF) ส่วน ตลาดหุ้นยุโรป ยังเผชิญแรงกดดันจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในเยอรมนีและฝรั่งเศส สงครามรัสเซีย-ยูเครน และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมทั้ง อาจเผชิญแรงกดดันจากการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า ระหว่างสหรัฐฯ -ยุโรป และข้อพิพาททางการค้าระหว่าง จีน – ยุโรป บนประเด็นรถ EV
ส่วนตลาดหุ้นเกิดใหม่ ได้แรงสนับสนุนจาก Valuation ที่ยังถูกกว่าตลาดพัฒนาแล้ว ยกเว้นตลาดหุ้นอินเดีย ส่วน EPS มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง และเผชิญความเสี่ยงจากการกีดกันทางการค้ามากขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นเกิดใหม่มีแนวโน้มผันผวนได้ในช่วงสั้น เราจึงแนะนำกระจายความเสี่ยงให้พอร์ต โดยเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ระยะยาว ทั้งในตลาดหุ้นอินเดีย อินโดนีเซีย จีน A-Share และไทย เนื่องจากจะได้รับอานิสงส์จากการที่ทางการจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ท่ามกลางความเสี่ยงข้อพิพาทการค้ากับสหรัฐฯ ที่มีอยู่ และลงทุนระยะสั้นกับตลาดหุ้นเวียดนาม จากเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2568 ยังมีแนวโน้มขยายตัวแข็งแกร่ง ได้แรงหนุน จากการลงทุนภาครัฐ และเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ที่ปรับเพิ่มขึ้น อีกทั้งเวียดนามกำลังดำเนินการยกระดับสถานะจากตลาดชายขอบ (Frontier Market) สู่ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ขณะที่ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนยังมีแนวโน้มขยายตัวดี สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ และ Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยดัชนี VN Index ซื้อขายบน 12M Fwd P/E ที่ 10.2x ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีอย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่สำคัญซึ่งอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจ คือ การที่ทรัมป์ ดำเนินนโยบายปรับขึ้นภาษีนำเข้ากับเวียดนาม แต่เรามองว่า จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเวียดนามอย่างจำกัด
ด้าน สินทรัพย์ทางเลือก เรายังคงแนะนำ ลงทุนระยะยาว ในทองคำ เพื่อป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อที่อาจกลับมาเพิ่มขึ้น และความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจกลับมารุนแรงได้ ประกอบกับเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการที่ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต้องการสะสมทองคำเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น
คำเตือน : การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน