ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค กล่าวถึงโครงการออกแบบเทอร์มินัล 2 สนามบินสุวรรณภูมิ ภายใต้ชื่อเรื่อง “แม้แต่ บ.ที่ปรึกษาของ ทอท. ก็ยังค้านเทอร์มินัล 2” โดยระบุว่า “ผมได้โพสต์บทความกรณีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กำลังจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 บนตำแหน่งที่ตั้งซึ่งผิดไปจากตำแหน่งในแผนแม่บทมาแล้ว 2 บทความ ประกอบด้วยบทความเรื่อง “เบื้องลึก!!! ทอท.เดินหน้าก่อสร้างเทอร์มินัล 2 เมินขยายเทอร์มินัล 1” เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2561 และบทความเรื่อง “ใคร??? เสก! เทอร์มินัล 2 ให้ผิดแผนแม่บท” เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2561
บทความนี้เป็นบทความที่ 3 ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่าบริษัทที่ปรึกษาที่ ทอท.จ้างให้บริหารจัดการโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 (ปีงบประมาณ 2554-2560) คือกลุ่มบริษัท EPM ก็ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 บนตำแหน่งซึ่งผิดแผนแม่บท กล่าวคือตามแผนแม่บทจะต้องก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ทางด้านใต้ของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ซึ่งอยู่ฝั่งถนนบางนา-ตราด แต่ ทอท.กลับเลือกที่จะก่อสร้างทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1
กลุ่มบริษัท EPM ได้ทำรายงานการวิเคราะห์ขีดความสามารถของสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 โดยได้เสนอแนะให้ ทอท.พัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิตามแผนแม่บท กล่าวคือให้ขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ด้านทิศตะวันออกพร้อมกับก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ตามด้วยการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ฝั่งถนนบางนา-ตราด และอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 ตามลำดับ จะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 100 ล้านคนต่อปี
แต่ ทอท.ไม่ทำตามข้อเสนอแนะของกลุ่มบริษัท EPM กลับตัดสินใจที่จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ด้วยเหตุนี้ กลุ่มบริษัท EPM จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 29 สิงหาคม 2557 ถึง ทอท. โดยคัดค้านการตัดสินใจดังกล่าวของ ทอท. เนื่องจากกลุ่มบริษัท EPM กังวลว่าการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 จะก่อให้เกิดปัญหาทางเทคนิคหลายประการ เช่น (1) ไม่มีพื้นที่ให้เครื่องบินจอดเพียงพอที่จะทำให้อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ซึ่งผิดแผนแม่บทสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี (ในขณะนั้น ทอท.ระบุว่าต้องการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ให้มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี แต่ปัจจุบัน ทอท.เพิ่มขีดความสามารถของอาคารดังกล่าวเป็น 30 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะทำให้น่ากังวลมากยิ่งขึ้น) และ (2) การก่อสร้างรถไฟฟ้าเชื่อมระหว่างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 กับหลังที่ 1 ใกล้ๆ กับอาคารจอดรถ ซึ่งมีพื้นที่แคบๆ จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการก่อสร้าง การหาพื้นที่สำหรับก่อสร้างสถานี และโรงจอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า และมีปัญหากับโครงสร้างถนนยกระดับและสะพานคนข้ามจากอาคารจอดรถ เป็นต้น
กลุ่มบริษัท EPM ได้เน้นย้ำว่าการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิจะต้องดำเนินไปตามแผนแม่บทที่ได้มีการศึกษาและวางแผนไว้อย่างรอบคอบ ทั้งนี้ การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 บนตำแหน่งซึ่งผิดแผนแม่บทจะทำให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนในการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิในอนาคต ที่สำคัญ กลุ่มบริษัท EPM ได้ระบุว่า “การก่อสร้างโครงการใดโครงการหนึ่งในสนามบินสุวรรณภูมิจะต้องเป็นโครงการที่ช่วยยกระดับคุณภาพการให้บริการของสนามบิน ไม่ใช่เป็นโครงการที่จะก่อให้เกิดความแออัดและความล่าช้า ทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวก ซึ่งจะนำไปสู่การเสียโอกาสในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของภูมิภาคนี้”
หลังจากนั้น ทอท.ได้มีหนังสือเลขที่ ทอท.11776/2557 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 ถึงกลุ่มบริษัท EPM บอกเลิกสัญญาจ้างกลุ่มบริษัท EPM เป็นที่ปรึกษาบริหารโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 (ปีงบประมาณ 2555-2560) ซึ่งมีระยะเวลาปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จภายใน 58 เดือน (1 มิถุนายน 2555 ถึง 31 มีนาคม 2560) โดยอ้างว่า ทอท.มีการพิจารณาทบทวนรูปแบบและการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อให้เกิดความเหมาะสม เป็นผลให้ ทอท.ต้องทำการศึกษาและวิเคราะห์โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ตามตำแหน่งที่ผิดแผนแม่บทด้วยตนเอง ไม่ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษา และได้มีรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์ออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558
รายงานฉบับนี้ระบุว่าอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 จะมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี ไม่ใช่ 30 ล้านคนต่อปี ตามที่ ทอท.ชี้แจง จึงเป็นข้อน่าสังเกตว่าผู้โดยสารจำนวน 10 ล้านคนต่อปีที่เพิ่มขึ้นมานั้น เพิ่มขึ้นมาได้อย่างไร?
ผมได้นำเสนอให้ผู้ติดตามได้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 บนตำแหน่งที่ผิดแผนแม่บทมาแล้ว 3 ครั้ง โดยได้ครอบคลุมหลายประเด็นพร้อมเอกสารหลักฐาน แต่ผู้เกี่ยวข้องยังคงนิ่งเฉย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีเฉพาะผู้บริหาร ทอท.เท่านั้นที่ออกมาชี้แจงแบบคลุมเครือและไม่ครบทุกประเด็น ดังนั้น ความหวังสุดท้ายอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะพิจารณาสั่งการให้ ทอท.ดำเนินการแก้ไขโดยด่วนต่อไป”
แม้แต่ บ.ที่ปรึกษาของ ทอท.ก็ยังค้านเทอร์มินัล 2ผมได้โพสต์บทความกรณีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท….
โพสต์โดย ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ – Dr.Samart Ratchapolsitte เมื่อ วันเสาร์ที่ 29 กันยายน 2018