หน้าแรกการเมือง'ดร.สามารถ' เชื่อ ระบบโมโนเรลคร่อมคลอง แก้รถติดกรุงเทพฯ

‘ดร.สามารถ’ เชื่อ ระบบโมโนเรลคร่อมคลอง แก้รถติดกรุงเทพฯ

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตส.ส. พรรคประชาธิปัตย์และอดีตรองผู้ว่าจังหวัดกรุงเทพฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค กล่าวภายใต้ชื่อเรื่องว่า “โมโนเรลคร่อมคลอง
แก้รถติดกรุงเทพฯ” โดยระบุว่า “เมื่อเร็วๆ นี้ มีการแชร์คลิปกันมากมายเกี่ยวกับรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือโมโนเรล (Monorail) ที่วิ่งอยู่เหนือคลองในประเทศเยอรมนี พร้อมกับมีการแสดงความคิดเห็นว่ากรุงเทพฯ ซึ่งมีคลองหลายสายควรจะมีโมโนเรลวิ่งเหนือคลองเช่นเดียวกัน จะช่วยทำให้รถไม่ติดในระหว่างการก่อสร้าง และไม่ต้องเวนคืนที่ดิน หรือเวนคืนน้อย

นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่คนกรุงเทพฯ มีความห่วงใยในบ้านเมืองของตน ต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ และน่าท่องเที่ยว ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะว่าช่วงนี้คนกรุงเทพฯ ต้องเผชิญรถติดอย่างสาหัสสากรรจ์ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ฝนตกหนักซึ่งมักจะเป็นเวลาเย็นช่วงเลิกงานและเลิกเรียนหนังสือ คนกรุงเทพฯ ต้องเดินทางกลับบ้านพร้อมๆ กัน ทำให้เกิดวิกฤตจราจร หากต้องเดินทางผ่านพื้นที่ที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าซึ่งมีการใช้ผิวจราจรเพื่อการก่อสร้างทำให้เกิดคอขวดด้วยแล้ว จะต้องเสียเวลานานมากจึงจะสามารถผ่านจุดคอขวดเหล่านั้นได้ น่าเห็นใจในความเดือดร้อนจริงๆ

มีหลายคนสอบถามผมมาว่าจะสร้างโมโนเรลวิ่งเหนือคลองในกรุงเทพฯ ได้หรือไม่ ผมขอตอบว่าสามารถก่อสร้างได้ และผมก็เห็นด้วยที่จะให้มีการก่อสร้างโมโนเรลวิ่งเหนือคลองในกรุงเทพฯ เนื่องจากโมโนเรลมีข้อได้เปรียบที่สามารถวิ่งซอกซอนไปตามพื้นที่แคบๆ ได้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องเวนคืนพื้นที่จำนวนมาก โมโนเรลใช้โครงสร้างขนาดเล็กและเบา ทำให้ใช้เงินในการก่อสร้างถูกกว่ารถไฟฟ้าที่เราใช้บริการกันอยู่ ใช้เวลาการก่อสร้างไม่นาน มีเสียงดังรบกวนตอนวิ่งให้บริการน้อยกว่า พื้นที่ด้านล่างใต้โมโนเรลโปร่งสบาย ไม่ทึบ ไม่อึดอัด อีกทั้ง โมโนเรลสามารถวิ่งเลี้ยวโค้งแคบได้ และสามารถวิ่งบนทางลาดชันสูงได้

โมโนเรลมี 2 ประเภท ดังนี้

1. โมโนเรลแบบคร่อมราง (Straddle-Type Monorail)

เป็นโมโนเรลที่วิ่งคร่อมบนรางเดี่ยว มีขีดความสามารถขนผู้โดยสารได้ถึง 40,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง (ขึ้นอยู่กับขนาดของตู้รถไฟ จำนวนตู้รถไฟในขบวน และความถี่ในการปล่อยขบวนรถไฟ) ซึ่งน้อยกว่ารถไฟฟ้าบีทีเอสและเอ็มอาร์ทีที่มีความจุมากกว่า 50,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง มีความเร็วสูงสุดพอๆ กับรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีคือประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย

2. โมโนเรลแบบแขวน (Suspended-Type Monorail)

เป็นโมโนเรลที่วิ่งอยู่ใต้รางเดี่ยว โดยแขวนขบวนรถไว้กับราง มีขีดความสามารถขนผู้โดยสารได้น้อยกว่า 30,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง มีความเร็วสูงสุดประมาณ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีการใช้งานไม่แพร่หลาย

ทั้งนี้ เราควรเลือกประเภทของโมโนเรลที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ของเรา และควรเลือกขนาดความจุผู้โดยสารตามปริมาณผู้โดยสารที่คาดการณ์ไว้ อนึ่ง การก่อสร้างโมโนเรลนั้นเราควรเลือกปักเสาบนสองฝั่งคลอง แต่ในกรณีที่จำเป็นต้องปักเสาในคลองก็จะไม่ทำให้กีดขวางการระบายน้ำเนื่องจากเป็นเสาขนาดเล็ก

ในกรุงเทพฯ มีคลองหลายสายที่สามารถสร้างโมโนเรลได้ ซึ่งผมขอเสนอแนะหลักเกณฑ์ในการเลือกคลองที่เหมาะสมดังนี้

1. มีประชาชนอาศัยหรือทำงานสองฝั่งคลองหนาแน่น

2. ไม่มีเส้นทางรถไฟฟ้าสายอื่นวิ่งขนานในพื้นที่ใกล้เคียง มิฉะนั้น จะกลายเป็นว่าโมโนเรลมาแย่งผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายอื่น เป็นการแข่งขันกันเอง แต่ถ้าสามารถหาเส้นทางที่ขนผู้โดยสารมาป้อนให้กับรถไฟฟ้าอื่นก็จะเป็นการดีมาก เป็นการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ไม่แข่งขันกัน ซึ่งจะช่วยทำให้มีผู้โดยสารรถไฟฟ้ามากขึ้น

3. ไม่มีอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่อยู่ใต้คลอง หรือในกรณีที่มี แต่ยังมีพื้นที่เหลือพอที่จะปักเสาโมโนเรลได้ก็ไม่มีปัญหา

การก่อสร้างโมโนเรลวิ่งเหนือคลองในกรุงเทพฯ จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ซึ่งถูกกว่าค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าอื่นที่เราใช้บริการกันอยู่หรือที่กำลังก่อสร้างมาก เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-บางใหญ่มีต้นทุน 2,735 ล้านบาทต่อกิโลเมตร รถไฟฟ้าบีทีเอสมีต้นทุนประมาณ 2,200 ล้านบาทต่อกิโลเมตร รถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ทีมีต้นทุนประมาณ 5,600 ล้านบาทต่อกิโลเมตร หรือรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ซึ่งกำลังก่อสร้างมีต้นทุน 3,073 ล้านบาทต่อกิโลเมตร เป็นต้น

เวลานี้เรามีหน่วยงานที่มีหน้าที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าอยู่ 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 2.กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ 3.การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานดังกล่าวสามารถก่อสร้างรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ได้ทุกหน่วยงาน ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน ทำให้เกิดการทำงานซ้ำซ้อน ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเสนอความเห็นให้ รฟม.มีหน้าที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายหลัก ไม่ว่าจะเป็นบนดินหรือใต้ดิน กทม.ควรรับผิดชอบก่อสร้างรถไฟฟ้าสายรองอย่างเช่นโมโนเรล เพื่อขนผู้โดยสารมาป้อนให้รถไฟฟ้าสายหลัก ส่วน รฟท.ควรมีหน้าที่ก่อสร้างรถไฟหรือรถไฟฟ้าเชื่อมกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด หรือเชื่อมต่างจังหวัดเข้าด้วยกัน

หากคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่อยากให้มีโมโนเรลวิ่งเหนือคลองก็ต้องช่วยกันหาแนวเส้นทางที่เหมาะสม แล้วเสนอแนะไปยังรัฐบาล ถ้ารัฐบาลเห็นชอบก็ควรมอบหมายให้ กทม.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างและบริหารจัดการเดินรถต่อไป”

https://web.facebook.com/Dr.Samart/posts/1426311707513728


 

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img