หน้าแรกการเมือง'อนาคตใหม่' ติง 'รัฐบาล' ใช้ 'พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์' เป็นเครื่องมือ 'ปิดปาก' ประชาชน

‘อนาคตใหม่’ ติง ‘รัฐบาล’ ใช้ ‘พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์’ เป็นเครื่องมือ ‘ปิดปาก’ ประชาชน

ผศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล ว่าที่เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความเฟสบุ๊ค กล่าวถึงพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยระบุว่า “กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ : จากกฎหมายป้องกัน Cybercrime กลายเป็นกฎหมาย “ปิดปาก” ไม่ให้แสดงความเห็น

วัตถุประสงค์พื้นฐานของกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ คือ การแก้ปัญหาอาชญากรรมคอมพิวเตอร์โดยแท้ ได้แก่ การใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด และการกระทำความผิดต่อระบบหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งฐานความผิดตามที่กำหนดในประมวลกฎหมายอาญาไม่ครอบคลุมถึงการกระทำเหล่านี้

ตัวอย่างเช่น เราไม่อาจนำความผิดฐานลักทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์ หรือบุกรุก มาใช้กับการแฮ็คข้อมูลคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ดังนั้น จุดกำเนิดของกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จึงมิได้มุ่งหมายจัดการเนื้อหาที่เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต หรือจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านทางคอมพิวเตอร์ หากแต่มุ่งจัดการการกระทำต่อตัวระบบคอมพิวเตอร์ เช่น การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น การจารกรรมหรือดักข้อมูลคอมพิวเตอร์ การก่อวินาศกรรมระบบคอมพิวเตอร์

กล่าวอีกนัยหนึ่ง “Cybercrime” หรือ “อาชญากรรมคอมพิวเตอร์” คือ อาชญากรรมที่เกิดจากหรือกระทำต่อระบบคอมพิวเตอร์โดยแท้ ไม่ใช่การกระทำความผิดอาญาอื่นๆแต่นำมาเผยแพร่ผ่านคอมพิวเตอร์

เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 แล้ว พบว่ามีปัญหาอยู่ 3 ประการ

ประการแรก

มาตรา 14 (3) บัญญัติความผิดอาญาที่ปรากฏอยู่แล้วในประมวลกฎหมายอาญา (เช่น ความผิดความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย) มากำหนดไว้อีก เพื่อจำกัดการเผยแพร่เนื้อหาผ่านคอมพิวเตอร์ จนทำให้เจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ไม่ใช่การจัดการ Cybercrime แต่กลายเป็น การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ แทน

ประการที่สอง

มาตรา 14 (2) บัญญัติองค์ประกอบความผิดว่า “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” นั้น เป็นกรณีที่กำหนดองค์ประกอบความผิดไว้อย่างกว้างขวางและไม่แน่นอนชัดเจน จนทำให้บุคคลไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าการกระทำของตนเป็นความผิดหรือไม่

กรณีเช่นนี้ ส่งผลร้ายตามมา

หนึ่ง บุคคลไม่แน่ใจว่าการตัดสินใจใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นของตนนั้นจะกลายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและต้องได้รับโทษหรือไม่ เมื่อเกิดความไม่แน่นอนชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วตนจะถูกดำเนินคดีและลงโทษหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของตนเอง พวกเขาก็เลือกที่จะ “เซนเซอร์ตนเอง” ด้วยการไม่ใช้เสรีภาพนั้นเลย

สอง รัฐนำกฎหมายเหล่านี้มาใช้เป็นเครื่องมือในการปราบปรามศัตรูของตน รัฐอาจ “เลือก” ใช้ได้ว่า จะเอากฎหมายนี้ไปเล่นงานใคร ตอนไหน

ประการที่สาม

กฎหมายได้กำหนดโทษสำหรับการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ไว้ที่จำุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งนับว่าเป็นโทษที่สูงมาก ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด

การกำหนดองค์ประกอบความผิดไว้ไม่แน่นอนชัดเจน และกำหนดอัตราโทษไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำผิดเช่นนี้ ย่อมขัดกับรัฐธรรมนูญ

เมื่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และยังถูกบิดผันกลายเป็น “เครื่องมือ” ของรัฐในการ “ปิดปาก” ประชาชน เช่นนี้ เราจึงต้องจัดการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ในประเด็นดังต่อไปนี้

(1.) ยกเลิกความผิดที่กำหนดไว้ในมาตรา 14 ทั้งหมด

(2.) แก้ไขมาตรา 15 ยกเลิกความผิดของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตที่เทียบเท่ากับผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ต

(3.) แก้ไขมาตรา 20 กำหนดให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งระงับการเผยแพร่ได้ในกรณีที่จำกัดยกเว้นอย่างยิ่ง (ต้องเขียนกรณีเหล่านี้ให้ชัดเจนและจำกัดอย่างยิ่ง) และให้บุคคลผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองได้”

https://www.facebook.com/piyabutr2475/posts/10155675729045848


 

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img