หน้าแรกเศรษฐกิจ-การเงินอุตสาหกรรมยานยนต์ปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวสอดคล้องกับเศรษฐกิจไทย

อุตสาหกรรมยานยนต์ปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวสอดคล้องกับเศรษฐกิจไทย

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของอุปสงค์และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยได้แบ่งการวิเคราะห์ออกเป็นประเด็นสำคัญ 4 ด้าน ดังนี้

1) ตลาดรถยนต์มีแนวโน้มเติบโตได้ทั้งในด้านการผลิตและยอดขาย โดยคาดการณ์ยอดการผลิตอยู่ที่ราว 1.96 ล้านคัน หรือขยายตัว 4.2% จากปีก่อน อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามความเสี่ยงจากภาคส่งออกที่คาดว่าจะหดตัวเพราะอุปสงค์ของคู่ค้าหลักที่ปรับลดลง สำหรับยอดขายรถยนต์ในประเทศมีแนวโน้มเติบโตได้ที่ 3.4% โดยตลาดรถยนต์นั่งจะเป็นแรงส่งสำคัญเพราะได้รับอานิสงส์ของการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ทั้งในแง่การจ้างงานและรายได้ที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากปีก่อน เนื่องจากต้องเผชิญแรงกดดันจากรายได้เกษตรกรที่ชะลอตัว
2) ตลาดรถบรรทุกและรถโดยสารขยายตัวได้สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยที่ทยอยกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น โดยคาดว่ายอดจดทะเบียนรถบรรทุกจะขยายตัว 2.7% ชะลอลงจากปีก่อนเล็กน้อย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากแนวโน้มความต้องการขนส่งสินค้าทางบกที่ปรับลดลงตามภาคการส่งออก อย่างไรก็ดี ยังมีแรงสนับสนุนจากการลงทุนก่อสร้าง กอปรกับการค้าชายแดนและผ่านแดนที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับยอดจดทะเบียนรถโดยสารมีแนวโน้มเติบโต 49.1% เร่งขึ้นต่อเนื่องสอดคล้องกับอุปสงค์ในกลุ่มรถบัสรับส่งนักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว อีกทั้ง แรงส่งจากนโยบายเปลี่ยนผ่านรถโดยสารประจำทางไป สู่รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า
3) ตลาดรถจักรยานยนต์มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนเช่นกัน โดยคาดว่ายอดผลิตรถจักรยานยนต์จะขยายตัวที่ราว 8.0% ขณะที่ยอดขายจะขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 2.3% เป็นผลจาก 1) การชะลอตัวของรายได้ภาคเกษตรจากปัจจัยด้านราคา และ 2) ยอดส่งออกที่ชะลอตัวเพราะแรงฉุดของตลาดยุโรปและสหรัฐฯ ขณะที่อุปสงค์ของตลาดเอเชียยังฟื้นตัวได้
4) ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยยังคงสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
โดยคาดว่ายอดจดทะเบียนรถ EVs ในปี 2566 จะอยู่ที่ราว 4.95 หมื่นคัน หรือเติบโตสูงถึง 430%YOY ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.6% ของยอดขายรถยนต์นั่งทั้งหมด จาก 1.1% ในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ กำลังการผลิตรถยนต์ EVs ของไทยก็มีแนวโนมปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ราว 3.5 แสนคันต่อปี ภายในปี 2568 อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามอานิสงส์จากการลงทุนของผู้ผลิตยานยนต์ EVs รายใหม่ ๆ ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งในด้านการจ้างงานและมูลค่าเพิ่มจากการพึ่งพาวัตถุดิบในประเทศ

สำหรับความท้าทายของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย คาดว่าในระยะสั้นจะเผชิญแรงกดดันจากวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นและหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีแนวโน้มชะลอตัว นอกจากนี้ มาตรฐานการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ก็ยังคงความเข้มงวดเนื่องจากคุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อในภาพรวมยังคงปรับแย่ลง สำหรับ ในระยะปานกลาง – ระยะยาว ภาคธุรกิจยานยนต์ยังจำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทันกับกระแสยานยนต์ไฟฟ้าและเทรนด์ ESG ที่กำลังมาแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงการที่ผู้บริโภคและนักลงทุนมีแนวโน้มให้ความสำคัญและตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่สร้างผลกระทบทางบวกทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่… www.scbeic.com/th/detail/product/automotive-240723

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img