หน้าแรกการเมือง'เดอะอ๋อย' ลุย ทวงสิทธิ์การถูกระงับธุรกรรมการเงิน จากคำสั่ง คสช.

‘เดอะอ๋อย’ ลุย ทวงสิทธิ์การถูกระงับธุรกรรมการเงิน จากคำสั่ง คสช.

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความเฟสบุ๊ค กล่าวถึงความคืบหน้าการขอให้ยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 10/2557 ซึ่งระงับการดำเนินธุรกรรมทางการเงินของตน โดยระบุว่า “คิวต่อไป ทวงสิทธิ์จากการถูกระงับธุรกรรมการเงินครับ

วันนี้ 15 มิถุนายน ผมได้มอบหมายให้ทนายไปยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินฯ เพื่อร้องถึงความเดือดร้อนจากคำสั่งระงับธุรกรรมการเงิน ที่บังคับใช้ต่อผมมา 4 ปีกว่า

โดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 10/2557 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 เรื่องระงับธุรกรรมทางการเงินของผมนั้น เป็นคำสั่งที่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นคำสั่งที่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุและกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล

คำสั่งดังกล่าว มีลักษณะโดยเบื้องต้นเป็นกฎหมาย เนื่องจากมีการกำหนดโทษทางอาญา หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม แต่กลับมีผลใช้บังคับแก่บุคคลบางบุคคลเป็นการเฉพาะ โดยไม่ได้มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปตามหลักการออกกฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคสอง กำหนด

นอกจากนั้น การออกคำสั่งและการคงไว้ซึ่งคำสั่งดังกล่าว ยังปราศจากเหตุผลตามกฎหมายและปราศจากความจำเป็นใดๆ ทั้งปวง เพราะผู้ถูกออกคำสั่งมิได้มีพฤติการณ์ก่อความไม่สงบในบ้านเมือง การห้ามทำธุรกรรมเป็นการตอบโต้การไม่มารายงานตัวต่อ คสช. ซึ่งระบุชัดในย่อหน้าแรกคำสั่งนี้ ดังนั้น เมื่อเหตุที่อ้างในคำสั่งหมดสิ้นไปและล่วงเลยมากว่า 4 ปี แล้ว ก็สมควรเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

แต่เมื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งกลับไม่ได้รับการเพิกถอนคำสั่ง กลับมีการอ้างว่าให้มาขออนุญาตเป็นครั้งๆไป ซึ่งไม่สมควรแก่กรณี และเป็นการละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพในทางทรัพย์สิน สิทธิในทางเศรษฐกิจ และสิทธิในการประกอบกิจการ อาชีพ หรือวิชาชีพ อันเป็นสิทธิมนุษยชนและเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 37 และมาตรา 40

ทั้งยังเห็นได้ว่า อาจเป็นคำสั่งที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เพียงเพราะผู้ถูกออกคำสั่งมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง อันขัดต่อหลักการห้ามเลือกปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27

นอกจากนี้ ยังเป็นคำสั่งที่ขัดต่อหลักความได้สัดส่วน เพราะไม่มีการกำหนดระยะเวลาของคำสั่งไว้ ส่วนกระบวนการยกเลิกคำสั่งก็มีความยุ่งยากและยากที่จะปฏิบัติได้จริง เพราะต้องออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี หรือคำสั่งนายกรัฐมนตรี หรือตราพระราชบัญญัติ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ถือได้ว่าเป็นคำสั่งที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 มาตรา 37 มาตรา 40 และมาตรา 77 ตลอดจนพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี ได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR) ภาค 1 ข้อ 1 ถึงข้อ 3 ภาค 2 ข้อ 2 ข้อ 4 ข้อ 5 ภาค 4 ข้อ 25 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ข้อ 2 ข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ 12 ข้อ 22 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 1 ข้อ 4 ข้อ 26 ซึ่งได้รับการคุ้มครองและรับรองตามรัฐธรรมนูญ

​นอกจากนี้​ ยังขัดต่อ มาตรา 87 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็นและยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่างๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

รัฐต้องจัดให้มีการพัฒนากฎหมายให้ทันสมัย ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่สร้างภาระและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ทำให้กลไกของรัฐ สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม จัดให้มีการประเมินผลกระทบของร่างกฎหมายที่เสนอ รวมทั้งจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ได้รับผลกระทบในการตรากฎหมายและกฎรัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายโดยเคร่งครัด รวดเร็ว และเป็นธรรม

คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล มิให้เกิดการล่วงละเมิดทั้งโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือโดยบุคคลอื่น รัฐต้องจัดระบบงานของรัฐและกระบวนการยุติธรรมให้อำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่าง มีประสิทธิภาพ ทั่วถึง เท่าเทียมกัน และเสียค่าใช้จ่ายน้อย ป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากประชาชน โดยมิชอบ รวมทั้งส่งเสริมการให้ความรู้ทางกฎหมายและการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน จัดให้มีกลไกการระงับข้อพิพาทโดยกระบวนการยุติธรรมชุมชนและกระบวนการยุติธรรมทางเลือก และสนับสนุนให้ประชาชนและองค์กรวิชาชีพมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมและการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย และขัดต่อวาระแห่งชาติของรัฐบาลปัจจุบัน “สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

ด้วยเหตุนี้ จึงได้มายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขอให้นำเสนอเรื่องคำสั่ง คสช ที่ 10/2557 เป็นคำสั่งที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยต่อไป ตามมาตรา 230 และ 231 แห่งรัฐธรรมนูญ”

คิวต่อไป ทวงสิทธิ์จากการถูกระงับธุรกรรมการเงินครับวันนี้ 15 มิถุนายน…

โพสต์โดย Chaturon Chaisang เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน 2018


 

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img