หน้าแรกกระบวนการยุติธรรมกู้ชีพฉุกเฉิน…!! ตำรวจและอาสาจราจรจันทบุรีช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินหัวใจหยุดเต้น

กู้ชีพฉุกเฉิน…!! ตำรวจและอาสาจราจรจันทบุรีช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินหัวใจหยุดเต้น

“ผบ.ตร. – รอง ผบ.ตร.” ชมเชยเป็นตำรวจมืออาชีพ ยกเป็นตัวอย่าง “สุภาพบุรุษจราจร”

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566 พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานเสริมสร้างภาพลักษณ์ตำรวจจราจร ศูนย์บริหารงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( ศจร.ตร. ) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ ( 27 พฤษภาคม 2566 ) ตำรวจจราจร สภ.เมืองจันทบุรี ร่วมกับหน่วยบริการทางการแพทย์ ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินหัวใจหยุดเต้น บริเวณตลาดน้ำพุ ส่งตัวไปรักษาที่ รพ.พระปกเกล้า


พล.ต.ท.นิธิธรฯ กล่าวว่า เหตุเกิดเวลา 13.37 น. ของวานนี้ ขณะ ร.ต.อ.สมเกียรติ ลิมปิโชติกุล, จ.ส.ต. บรรเทิง ผกามาศ, ด.ต.ศาสดา ยาวิไชย และ อส.จร.อำพล สุขศรี ตำรวจจราจร และอาสาจราจร สภ.เมืองจันทบุรี กำลังปฏิบัติหน้าที่ ได้มีหญิงสูงอายุที่เพิ่งออกจากคลินิคหมอจักวิดา ตลาดน้ำพุ มีอาการหัวใจหยุดเต้น หมดสติไปบริเวณหน้าคลินิก จึงรุดไปยังที่เกิดเหตุ ประเมินผู้ป่วยแล้วว่า หมดสติ น้ำลายฟูมปาก ไม่หายใจ คลำชีพจรไม่ได้ (ไม่มีชีพจร) จึงได้ช่วยทำการ CPR กับพยาบาลอีก 2 คน สลับกันเปิดทางเดินหายใจ เมื่อรถพยาบาลถึงที่เกิดเหตุ ได้ให้พยาบาลช่วยติด AED (เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ) และติด Defibrillator (เครื่องกระตุกหัวใจ) ตลอดจนปฏิบัติตามขั้นตอนการช่วยเหลือในเบื้องต้นอย่างต่อเนื่อง จนสามารถกลับมาตรวจพบสัญญาณชีพจรได้ (มีชีพจรหลังหัวใจหยุดเต้น) จากนั้นได้อำนวยความสะดวกการจราจร นำผู้ป่วยฉุกเฉินส่งยังโรงพยาบาลพระปกเกล้า ได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย (ถึง ร.พ. ปัจจุบันเข้าสู่กระบวนการรักษาของแพทย์ในหอผู้ป่วยวิกฤตของ ร.พ.พระปกเกล้า ต่อไป)


“ตำรวจ และอาสาสมัครจราจร ได้ผ่านการอบรมหลักสูตรปฏิบัติการแพทย์ขั้นพื้นฐานและช่วยปฏิบัติการแพทย์ขั้นสูง EMT 2564 จึงเข้าให้การช่วยเหลือหญิงสูงอายุหัวใจหยุดเต้นอย่างเร่งด่วน โดยเริ่มจากการตรวจดูความปลอดภัยบริเวณรอบๆ ตัวผู้ป่วยว่ามีสิ่งที่อาจเกิดอันตรายหรือไม่ จากนั้นทำการยืนยันว่าผู้ป่วยหมดสติจริง โดยการตีที่ไหล่แล้วเรียกด้วยเสียงดัง 4-5 ครั้ง เมื่อไม่ได้สติและหยุดหายใจ จึงเริ่มทำการกดหน้าอกโดยจับผู้ป่วยนอนหงาย นั่งคุกเข่าข้างผู้ป่วย วางสันมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มการกดหน้าอกด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ในอัตราเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที จนผู้ป่วยกลับมามีชีพจรอีกครั้ง จึงนำขึ้นรถและนำส่งโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัย” หัวหน้าคณะทำงานเสริมสร้างภาพลักษณ์ ศจร.ตร. กล่าว


พล.ต.ท.นิธิธรฯ กล่าวด้วยว่า กรณีช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินครั้งนี้ นับเป็นรายที่ 2 แล้วที่ อส.จร.อำพล สุขศรี ได้เข้าช่วยเหลือ โดยก่อนหน้าได้เข้าช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หน้ามหาวิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี ซึ่ง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศจร.ตร. ได้ชมเชยการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจจรา สภ.เมืองจันทบุรี และอาสาจราจรที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างมืออาชีพ ได้รับการฝึกฝนจนชำนาญ มีทักษะคล่องแคล่ว สามารถให้ความช่วยเหลือ เป็นที่พึ่งของประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ซึ่งถือเป็นหนึ่งตัวอย่างของตำรวจจราจรที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยจิตอาสาบริการ มีมาตรฐานสากล ตามแนวทางการสร้าง“สุภาพบุรุษจราจร” ที่ ศจร.ตร.กำลังขับเคลื่อนสร้างมาตรฐานตำรวจจราจรทั่วประเทศ เพื่อยกระดับการบริการประชาชน สร้างความเชื่อถือศรัทธา และนำไปสู่การลดอุบัติเหตุบนท้องถนนในที่สุด


หัวหน้าคณะทำงานเสริมสร้างภาพลักษณ์ ศจร.ตร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ตำรวจจราจรทั่วประเทศ พร้อมดูแลให้การช่วยเหลือประชาชนที่เกิดเหตุฉุกเฉินต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยทำคลอด ช่วยเหลือปฐมพยาบาล ช่วยชีวิตผู้ป่วยวิกฤตนำส่งแพทย์อย่างเร่งด่วน อำนวยความสะดวกเส้นทางผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมทั้งซ่อมรถฉุกเฉิน ฯลฯ ทั้งนี้หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อประสานงานได้ที่สายด่วนตำรวจจราจรโทร.1197 (ในกรุงเทพและปริมณฑล) หรือ โทร. 191 (ทั่วประเทศ)

#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ สื่อออนไลน์ ที่ยึดถือจรรยาบรรณครบถ้วน

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img