“เลิกดัดจริต-ตอแหล”ได้แล้ว”
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมที่ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทย ก้าวไกล ประชาชาติและเสรีรวมไทย จับมือกันลงนามบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยู ร่วมกับพรรคไทยสร้างไทย เป็นธรรม พลังสังคมใหม่ และพรรคเพื่อไทรวมพลัง
หนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยเสียง ส.ส.รวม 313 เสียง
แม้เสียงหนุนจะเกินกึ่งหนึ่งของเสียงส.ส.ในสภา แต่การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีต้องให้ 250วุฒิสมาชิก(ส.ว.)ร่วมโหวตด้วย พิธา”ต้องได้เสียงสนับสนุนเดินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาคือ 376 เสียง
“เส้นทางสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ”พิธา”จึงไม่ราบรื่นเพราะรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารนำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ยกร่างและนำมาบังคับใช้ล้วนเต็มไปด้วยกลเกมและกับดักที่เลวร้าย เพื่อสกัดฝ่ายต่อต้านเผด็จการทหาร”
ดังนั้นนับจากนี้ไปอีกเดือนกว่าๆที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.จะได้เห็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแนวร่วมที่หนุนรัฐประหาร กลุ่มส.ว.ที่คสช.ทำคลอด ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน”พิธา”นั่งนายกรัฐมนตรัในรูปแบบต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นท่าทีของส.ว.ส่วนใหญ่ที่ประกาศว่าจะไม่ยกมือโหวตให้โดยยกเหตุสารพัดมาอ้างอาทิ ส.ส.พรรคก้าวไกล ก้าวร้าว ชอบวิจารณ์ส.ว.ทางลบ หรือไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไขมาตรา 112
ขณะที่ ส.ว.บางคนก็เคลื่อนไหวผ่านสื่อโซเซียลในรูปแบบต่างๆ อาทิ โพสต์ข้อความอวดอ้างถึงความรักชาติ สถาบัน บางคนก็นำข้อความของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ที่ปราศรัยหาเสียง มาตัดต่อเพื่อใส่ร้ายประดิษฐ์วาทะกรรมบิดเบือนแล้วแชร์ผ่านโซเซียลเพื่อให้แนวร่วมไปขยายผลต่อ
หากจับความเคลื่อนไหวของคนในสังคมผ่านสื่อโซเซียล ด้วยระยะเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์หลังเลือกตั้ง จะพบว่าความแตกแยกทางความคิดได้ร้าวลึกลามไปถึงสถาบันครอบครัว เพราะแนวร่วมของฝ่ายที่พ่ายแพ้ไม่ย่อมรับกติกาที่พวกตัวเองวางไว้ สร้างข่าวเท็จ ข่าวลวง ใส่ร้ายกันอย่างต่อเนื่องและดุเดือด
“บางคนถึงขั้นนโมว่าหาก”พิธา”นั่งนายกฯกลัวตื่นขึ้นมาพบว่าอเมริกามายึดประเทศไทยแล้ว”
ซึ่งชนวนแห่งความร้าวฉานนี้ ถ้าใช้แนวทางประชาธิปไตย ก็สามารถที่จะถอดชนวนให้หลุดพ้นได้ระดับหนึ่ง ด้วยการผนึกกำลังของส.ส. โดยบรรดาส.ส.ที่ไม่ได้สังกัดพรรคที่เป็นร่างทรงของเผด็จการทหาร ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย ที่แม้จะออกแถลงการณ์ยืนยันว่าจะไม่โหวตให้นายพิธา ก็สามารถออกแถลงการณ์กลับลำมาหนุนได้
ซึ่งไม่ได้เสียหายอะไร หนำซ้ำยังได้เครดิตจากสังคมอีกด้วย ว่าพูดแล้วทำ เพราะเป็นที่ทราบกันอยู่ว่าระหว่างที่แกนนำพรรคหาเสียงปากก็พร่ำว่ารักประชาธิปไตย ชังเผด็จการ และรังเกียจพวกลากตั้ง เช่นเดียวกับ พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นเสาหลักกุมสภาพในพรรคได้ ก็ชูสโลแกนมาตลอดว่า ยึดมั่นในระบบรัฐสภา ชิงชังเผด็จ และพรรคคือสถาบันการเมือง เป็นเสาหลักประชาธิปไตย ที่ประชาชนพึ่งพาได้
ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนา ก็พยายามโชว์ว่าอดีตหัวหน้าพรรค คือนายบรรหาร ศิลปะอาชา เป็นตัวหลักสำคัญผลักดันให้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด แต่กลับสงวนท่าทีที่จะโหวตหนุนนายพิธา ด้วยเหตุผลเพียงว่าไม่ให้เกียรติกันในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติหรือพลังประชารัฐ คิดว่าไม่จำเป็นที่จะมาร่วมโหวตเพราะสองพรรคนี้คือร่างทรงของเผด็จการทหาร
“ดังนั้นเพื่อถอดชนวนความขัดแย้งที่นับวันจะทวีความรุนแรงและร้าวลึก พรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทยพัฒนา ควรร่วมมือกันเร่งแถลงจุดยืนว่าจะโหวตหนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่สามารถรวมเสียงได้กึ่งหนึ่งสภา โดยไม่มีเงื่อนไข”
อย่างน้อยก็ช่วยสยบความแตกแยกในบ้านเมือง ในห้วงเวลานี้ได้ระดับหนึ่ง และความร่วมมือนี้อาจจะช่วยให้กกต.ทำงานได้รวดเร็วและตรงไปตรงมามากขึ้นเพราะรู้ว่าอำนาจรัฐได้เปลี่ยนมือแล้ว ที่สำคัญได้ปิดสวิทต์และลดความกร่างของ ส.ว.ลากตั้งที่เปรียบเสมือนร่างทรงของเผด็จการทหาร ให้ราบคาบได้
แต่ถ้าทั้ง 3 พรรคยังเลือกที่จะเมินเฉยยืนยันในจุดยืนไม่โหวตหนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่รวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาก็ควรเลิกดัดจริตและตอแหลได้แล้วว่ารักประชาธิปไตและชังเผด็จการ!!