หน้าแรกกระบวนการยุติธรรมผบ.ตร.สั่ง จเรตำรวจแห่งชาติ เร่งตรวจสอบคดีเครือข่าย “ทุนมินลัต”

ผบ.ตร.สั่ง จเรตำรวจแห่งชาติ เร่งตรวจสอบคดีเครือข่าย “ทุนมินลัต”

หากพบบกพร่อง ช่วยเหลือใคร ดำเนินการเด็ดขาด ชี้เป็นคดีนอกราชอาณาจักร อยู่ระหว่างพิจารณาของอัยการและตำรวจ ยันไม่มีมวยล้มต้มคนดู สั่ง ผบช.น.ตรวจสอบข้อเท็จจริงเอกสารหลุด

วันที่ 11 มี.ค.66 พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษก ตร. เปิดเผยว่า “จากกรณี พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สว.สส.สน.พญาไท ชี้แจงขั้นตอนการดำเนินคดีกับเครือข่าย “ทุนมินลัต” จนปรากฎเป็นข่าวที่เกิดขึ้นนั้น พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.ได้รับทราบข้อมูลแล้ว ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้จเรตำรวจแห่งชาติลงตรวจสอบข้อเท็จจริง การทำสำนวนคดี ความล่าช้า ความบกพร่อง ว่ามีหรือไม่อย่างไร หากพบให้ดำเนินการตามหน้าที่อย่างเด็ดขาด ทั้งอาญา วินัย และปกครอง และในส่วนที่มีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำคดีดังกล่าวหลุดมา ได้สั่งการให้ ผบช.น. ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว ว่าเป็นเอกสารจริงหรือไม่ และรายละเอียดที่ปรากฎในเอกสาร เป็นข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ เนื่องจากเนื้อหาในการกล่าวอ้าง เป็นการเปิดเผยขั้นตอนกระบวนการสืบสวนสอบสวนคดี ที่ยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น และที่ผ่านมาไม่เคยได้รับรายงานจาก ผบช.น. ว่ามีเหตุการณ์เช่นที่บรรยายในหนังสือดังกล่าวเกิดขึ้น

ส่วนประเด็นการดำเนินคดีกับ เครือข่าย “ทุนมินลัต” คดีนี้ เริ่มจาก พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สว.สส.สน.พญาไท เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง สว.กก.2 บก.สส.บช.น. หลังสืบสวนพบว่าบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง น่าจะมีส่วนกับการทำผิด ได้ยื่นขอหมายจับและศาลเพิกถอนหมายจับ ต่อมาจึงเข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน บก.ปส.3 เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2565 และ บช.ปส. เห็นว่าเป็นเป็นคดีนอกราชอาณาจักร จึงได้เสนออัยการสูงสุดรับผิดชอบ เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 65 ต่อมาอัยการสูงสุดเห็นว่าเป็นคดีนอกราชอาณาจักร ได้มอบหมายให้ ผบก.ปส.3 เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแทน อัยการสูงสุด โดยมอบหมายให้พนักงานอัยการเข้าร่วมสอบสวนด้วยเมื่อวันที่ 21 พ.ย.65

ต่อมาหลังจากมีประเด็นคดี “ทุนมินลัต”เมื่อครั้งก่อน ผบ.ตร.ได้เรียก ผบช.ปส. และ ผบก.ปส.3 มากำชับให้ควบคุมกำกับดูแลการทำงานของพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบ ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด ให้ทำการสอบสวนอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา ตามพยานหลักฐานที่ปรากฎ ไม่ละเว้นหรือช่วยเหลือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด รวมทั้งให้สนับสนุนการทำงานของพนักงานสอบสวนในด้านต่างๆที่จำเป็นอย่างเต็มที่ อย่าให้เกิดเป็นอุปสรรคในการทำงานได้ และวันนี้ได้สั่งการ ผบก.ปส.3 รายงานความคืบหน้าในทางคดี ในส่วนที่ไม่เสียต่อรูปคดี มาเป็นระยะ เพื่อที่จะไม่ให้สังคมคลางแคลงใจในความโปร่งใสของการทำงานของพนักงานสอบสวน ซึ่งผบ.ตร.ได้ยืนยันว่าไม่มีใครมาสั่งการ กดดัน หรือเข้าแทรกแซงการทำสำนวนในคดีดังกล่าวแต่อย่างใด และได้กำชับพนักงานสอบสวนให้ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ตามพยานหลักฐานที่ปรากฎตามข้อเท็จจริงทุกประการ

จะเห็นได้ว่า ในคดีนี้ พงส.บช.ปส.3 หลังจากที่รับคำกล่าวโทษประมาณ 1 เดือนกว่า ก็ได้เร่งรวบรวมหลักฐาน ทำสำนวนมาตลอด จนพบว่าเป็นคดีนอกราชอาณาจักร จึงส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด โดยไม่ได้มีการประวิงสำนวนเพื่อช่วยเหลือใครแต่อย่างไร และ มีการส่งรายงานเพิ่มเติมตามคำร้องขอของอัยการสูงสุดมาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ทางคดีมีความคืบหน้าไปมาก แต่ยังไม่แล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการพิจารณาทางคดีร่วมกันของอัยการ และตำรวจที่ทำคดี ที่ทำงานในรูปแบบคณะทำงาน ตำรวจไม่ได้ทำคดีฝ่ายเดียว โดยได้มีการหารือร่วมกันกับพนักงานอัยการมาโดยตลอด

โดยในประเด็นคดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการเน้นย้ำมาตลอด ว่าต้องทำความจริงให้ปรากฎ ตามพยานหลักฐาน เอาคนผิดมาลงโทษ ต้องไม่มีการช่วยเหลือใคร เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชน ซึ่ง ผบ.ตร.รับนโยบาย และติดตามความคืบหน้าคดีกับ ผบก.ปส.3 มาตลอด พร้อมจะเข้าช่วยเหลือหากอัยการและคณะพนักงานสอบสวนร้องขอ

ประเด็นต่อมาการโยกย้าย พ.ต.ท.มานะพงษ์ฯ เป็นการแต่งตั้งตามวาระ ไม่ได้มีสาเหตุมาจากคดี เนื่องจากคดีนี้ ตำรวจ บก.สส.บช.น.ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสำนวนแล้ว ตั้งแต่ที่อัยการสูงสุดอนุมัติเป็นคดีนอกราชอาณาจักร อีกทั้งอำนาจการแต่งตั้งระดับ สว.-รอง ผกก เป็นอำนาจของ ผบช. ซึ่งพิจารณาจากหลายปัจจัย ทั้งการทำงาน ความรู้ความสามารถ การทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานและอาวุโสต่างๆ โดยมีการประเมินตามหลักเกณฑ์ มีผลคะแนน ออกมาชัดเจน จนมีการโยกย้ายตามความเหมาะสม เพื่อให้การทำงานของหน่วยมีความต่อเนื่อง ซึ่งการโยกย้าย พ.ต.ท.มานะพงษ์ฯ เป็น สว.สส.สน.พญาไท ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี ไม่ได้เป็นการลดเกรด หรือกลั่นแกล้ง เพียงแต่เป็นเรื่องความเหมาะสมของหน่วย ที่ผู้บังคับบัญชาเห็นว่า จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อการทำงานในภาพรวมของหน่วย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

โฆษก ตร. กล่าวอีกว่า “ ประเด็นที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมขณะนี้ กระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการ กำชับมาตลอดให้ ทำคดีอย่างตรงไปตรงมา พยานหลักฐานไปถึงใคร ให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาด ซึ่ง ผบ.ตร.รับนโยบาย มีการติดตามคดีมาต่อเนื่อง พร้อมจะสนับสนุนทุกการทำงานตามที่อัยการและคณะพนักงานสอบสวนคดีนี้ร้องขอมา เพื่อให้พี่น้องประชาชนเกิดความมั่นใจ โดย ตร.พร้อมจะทำทุกทาง เพื่อเอาผิดคนเกี่ยวข้อง ไม่มีมวยล้มต้มคนดูแน่นอน”

โฆษกศาลฯ แจงปมเพิกถอนหมายจับ ส.ว.คนดัง ‘ก.ต.’ รับทราบข้อเท็จจริงแล้ว

โฆษกศาลยุติธรรม เผย สำนักงานศาลฯรับทราบ หนังสือว่อนสื่อปมเพิกถอนหมายจับ สว.คนดัง แล้ว หลังมีโซเชียลกระหึ่ม พร้อม แจงขั้นตอนการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนยังไม่ต้องถึงมือ ก.ต.พิจารณา

ด้านนายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณี หนังสือชี้แจง ของ ตำรวจ สน.พญาไทเกี่ยวกับการร้องขอออกหมายจับ สว.คนดัง กรณีเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และการเพิกถอนหมายจับ และมีการเผยแพร่ในสื่อโซเชียล ว่า ในเรื่องดังกล่าว ตนเองเห็นหนังสือที่ส่งต่อผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย แล้ว และเข้าใจว่า มีการรายงานให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ (ก.ต.) ทราบ แล้ว แต่ยังไม่มีมติ หรือ รายงานอะไรออกมาเป็นพิเศษ

ส่วนของหนังสือชี้แจง ที่ปรากฏมีการพาดพิงชื่อบุคคล เป็นผู้บริหารของศาลอาญา นั้น นายสรวิศ กล่าวว่า เข้าใจว่าท่านที่เกี่ยวข้องกับการ เรื่องดังกล่าว มีการรายงานข้อเท็จจริงไปบ้างแล้ว และมีการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงก่อนที่ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จะมายื่นหนังสือ ต่อ ก.ต. ให้ตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวแล้วเช่นกัน แต่ส่วนตัวยังไม่ได้รับรายงานในเรื่องมติ อะไรออกมา ว่าจะเป็นยังไงต่อ ส่วนที่ประชุม ก.ต. ในครั้งหน้า ยังไม่แน่ใจว่าจะมีการพูดคุยในเรื่องนี้หรือไม่ เพราะยังไม่เห็นวาระอะไรเพิ่มเติม

โฆษกศาลยุติธรรม ยังกล่าวถึงขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนต่างๆ เข้ามาว่า ตามปกติ จะมีการรายงานข้อเท็จจริงเป็นลำดับชั้น ตั้งแต่ต้นเรื่อง คือ ศาลอาญา ส่งเรื่องเข้ามาที่ สำนักงานศาลยุติธรรม จากนั้นสำนัก ก.ต. ก็จะดูข้อเท็จจริงที่ได้รับมา เพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในเบื้องต้น ว่า ลักษณะของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ถ้าเกิดเห็นว่า เป็นเรื่องของการใช้ดุลยพินิจการออกคำสั่งตามปกติที่สามารถทำได้ ก็อาจจะยุติเรื่องไป แต่สมมติ ว่าเข้าข่ายของอาจจะมีมูลเรื่องของผิดวินัย ก็อาจจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง แล้วเสนอต่อประธานศาลฎีกา ว่าควรจะยุติเรื่องหรือ ควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

อย่างไรก็ตาม เรื่องร้องเรียนต่างๆเหล่านี้ จะยังไม่ต้องเข้าที่ประชุม ก.ต. โดยตรง เพราะปกติ ที่ประชุม ก.ต. จะเป็นชั้นสุดท้าย เพราะหากมีการสอบทางวินัยแล้วมีความเห็นว่าควรจะลงโทษ ถึงจะเข้าที่ประชุม ก.ต. แต่อาจจะมีบางกรณีหรือ บางเรื่อง อาจจะมี ก.ต. บางท่านหยิบยกขึ้นมาสอบถาม ข้อมูลจากที่ประชุม ก.ต.ก็เป็นไปได้ แต่ปกติเรื่องลักษณะนี้ ยังไม่ใช่กระบวนการที่จะ เสนอ เข้า ก.ต.อย่างเป็นทางการ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img