ภายหลังการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลไทย และสหภาพยุโรปในการต่อต้านการทำประมง IUU เมื่อวันที่ 11-14 ตุลาคม 2565 เสร็จสิ้นไป ต่อมาสหภาพยุโรปได้มีบันทึกข้อเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมประมง ถึง 35 ประเด็น ครอบคลุม 3 เรื่องใหญ่ ประกอบด้วย 1.) การปล่อยปละละเลยให้เรือประมงพาณิชย์มีการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนอย่างมากและต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบให้ทรัพยากรเสื่อมโทรม, 2.) การทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, 3.) ความอ่อนแอการตรวจเรือของศูนย์ PIPO ด่านตรวจประมง รวมถึงหน่วยตรวจกลางทะเล และขีดเส้นให้ประเทศไทยแก้ไขปรับปรุงถึงเดือนพฤษภาคม 2565 ก่อนสหภาพยุโรปจะมาตรวจประเมินในเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งจะมีผลต่อการต่อใบเขียวและการเลื่อนอันดับการค้ามนุษย์เป็น Tier 1
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ สั่งการให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ปรับโครงสร้างการทำงานด้านบังคับใช้กฎหมายเพื่อสนับสนุนหน่วยงานหลักที่ต้องรับผิดชอบคือ กรมประมง จึงได้มีคำสั่งลงวันที่ 28 ธันวาคม 2565 แต่งตั้งคณะทำงานขึ้น 2 ชุด ที่มี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าทีมด้วยตนเอง ประกอบด้วย 1.) คณะทำงานวิเคราะห์สถานการณ์การตรวจ ติดตาม ควบคุม เฝ้าระวังการทำประมง และแรงงานในภาคประมง ทำหน้าที่ รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ หรือชี้เป้า, 2.) คณะทำงานปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ หรือ ชาร์จเป้าโดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ กำชับว่า “ต้องคงใบเขียว และเลื่อน Tier 1” เท่านั้น
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า “ปี 2565 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าไปเสริมการทำงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถจับกุมคดีประมงใหม่ ๆ ได้มากกว่า 10 คดี ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไม่ละเว้น เพราะต้องยึดถือภาพรวมของประเทศ แต่ที่ EU ส่งรายงานว่า ต้องแก้ไขปรับปรุงถึง 35 ประเด็น โดยเฉพาะการปล่อยปละละเลยให้มีการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนมากมายอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งการตรวจของศูนย์ PIPO ด่านตรวจประมง และหน่วยตรวจกลางทะเล เป็นสิ่งที่กรมประมงต้องเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีตำรวจเป็นหน่วยสนับสนุน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายมีความพร้อม แม้ที่ผ่านมาตำรวจจะทำงานอย่างหนัก แต่อาจยังไม่ครอบคลุม จำเป็นที่หน่วยงานหลักจะต้องเข้ามาร่วมมือกัน ดังนั้นการจัดตั้ง 2 คณะทำงานนี้ของท่านรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงเป็นการขับเคลื่อนให้หน่วยหลัก คือ กรมประมง ออกมาทำงานอย่างเข้มข้นเช่นเดียวกับช่วงเวลาปลดใบเหลืองเมื่อปี 2558-2562 แต่หลังจากนั้นก็ลดน้อยถอยลงจน EU มองเห็นจุดอ่อนถึง 35 ประการ
รอง ผบ.ตร. กล่าวย้ำอีกว่า ทันทีที่เปิดทำงาน ทางคณะทำงานร่วมกับกรมประมง กรมเจ้าท่า ศรชล กระทรวงแรงงาน จะเร่งปฏิบัติการแก้ไขปัญหาทั้ง 35 ประเด็นนีทันที อย่างเร่งด่วนที่สุด ซึ่งได้สั่งการให้คณะทำงานวิเคราะห์ข้อมูลเตรียมการล่วงหน้าไว้เรียบร้อยแล้ว