วันที่ 15 สิงหาคม 2565 ที่ศูนย์ฝึกยุทธวิธีตำรวจกลาง จ.นครราชสีมา พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นประธานพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพหรือเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน รุ่นที่ 6 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565
พล.ต.ท.ประจวบ เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่มุ่งหวังให้สังคมมีความสงบเรียบร้อย ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานสืบสวนสอบสวน มีความห่วงใยในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนเห็นความสำคัญของการพัฒนางานสืบสวนในภาพรวม ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ทันต่อสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงของอาชญากรรมในปัจจุบัน จึงได้นำนโยบายรัฐบาลมาสู่การปฏิบัติ โดยได้จัดทำโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพหรือเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน ของ บช.น. และ ภ.1 – 9 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จำนวน 10 รุ่น รุ่นละ 60 นาย รวม 600 นาย ณ ศูนย์ฝึกยุทธวิธีตำรวจกลาง จ.นครราชสีมา
พล.ต.ท.ประจวบ กล่าวว่า ในวันนี้ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานสืบสวนสอบสวน ให้มาเป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมทั้งกำกับดูแล ให้คำแนะนำ ถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ ในโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพหรือเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน รุ่นที่ 6 ซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายสืบสวนในสังกัดตำรวจภูธรภาค 7 ได้แก่ ภ.จว.นครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และ บก.สส.ภ.7 รวมจำนวน 60 นาย เพื่อเพิ่มพูนทักษะและองค์ความรู้ในงานสืบสวนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน พัฒนาศักยภาพการขยายผลและเทคนิคการสืบสวนสมัยใหม่ และมุ่งหวังให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนทุกพื้นที่ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ เทคนิคการสืบสวนตลอดจนประสานความร่วมมือบูรณาการการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยและเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจมากขึ้น โดยในการฝึกอบรมครั้งนี้ จะมีการฝึกอบรมทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เช่น หลักการตรวจที่เกิดเหตุ การเก็บรวบรวมพยานหลักฐานและการปฏิบัติในที่เกิดเหตุของนักสืบ เทคนิคงานสืบสวนสมัยใหม่ การตรวจพิสูจน์และเครื่องมือพิเศษ การสืบสวนขยายผลและยึดทรัพย์สินเครือข่ายการค้ายาเสพติดและการดำเนินคดีฟอกเงิน ศิลปะการซักถามและการบันทึกถ้อยคำพยาน การเขียนรายงานการสืบสวน การขอหมายขังและการควบคุมตัวไว้ในที่ปลอดภัย และการทดลองปฏิบัติการสืบสวนในกรณีศึกษา (Case Study) ที่น่าสนใจ เป็นต้น
พล.ต.ท.ประจวบ กล่าวกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนที่เข้ารับการฝึกอบรมตั้งใจศึกษาหาความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และให้นำทักษะและความรู้ที่ได้รับไปปรับประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งนำไปถ่ายทอดให้กับเพื่อนร่วมงานผู้ร่วมปฏิบัติหน้าที่ และฝึกฝนทบทวนการปฏิบัติเพื่อสร้างทักษะและความชำนาญ ปฏิบัติตามหลักยุทธวิธีที่เป็นมาตรฐาน (S.O.P. : Standard Operation Procedure) มีขั้นตอนการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน พร้อมทั้งมุ่งบูรณาการการปฏิบัติร่วมกันระหว่างพื้นที่ เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านการสืบสวนมีประสิทธิภาพ ประชาชนมีความปลอดภัย มีความเชื่อมั่น ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ